ฉันเชื่อว่าในวัยเด็กของแทบทุกคนคงต้องเคยมีประสบการณ์ถลอกปอกเปิกกับการหัดขี่จักรยานสองล้อมาแล้วทั้งนั้น เรียกว่าถ้าไม่ได้แผลไม่ได้เลือดก็ยังขี่ไม่เป็นเสียที จนเมื่อแผลเก่าๆ เริ่มตกสะเก็ดนั่นแหละ ถึงจะเรียนรู้เทคนิคการหยุดจักรยานแบบที่ไม่ต้องเอาตัวเข้าแลกได้ ซึ่งฉันว่าการหัดขี่จักรยานนี้น่าจะเรียกว่าเป็นพัฒนาการขั้นหนึ่งของวัยเด็กเลยก็ว่าได้ และเมื่อขี่จักรยานได้คล่องแล้ว ก็จะเริ่มพัฒนาการขั้นต่อไป นั่นก็คือต้องหัดขี่แบบปล่อยมือข้างเดียว หรือถ้าจะให้ดูเก๋าๆ หน่อยก็ต้องปล่อยให้ได้ทั้งสองข้าง ใครทำได้ก็นับว่าเท่ไม่น้อย
ฉันเองเมื่อนึกถึงความพยายามในการหัดขี่จักรยานของตัวเองเมื่อตอนเด็กๆ ทีไร เป็นต้องอมยิ้มด้วยความตลกทุกครั้ง เพราะจำได้ว่าในตอนนั้นกลัวล้มก็กลัว แต่กลัวขี่จักรยานไม่เป็นแล้วอายเพื่อนมากกว่า จึงต้องมุมานะหัดขี่จนสำเร็จจนได้ (แต่หัดขี่แบบปล่อยสองมือยังไง้.. ยังไง ก็ทำไม่ได้เสียที)เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่แล้วฉันก็ไม่ได้ขี่จักรยานบ่อยๆ อีก แต่ที่นึกถึงความรู้สึกเก่าๆ ขึ้นมาก็เพราะตอนนี้ฉันกำลังอยู่ที่ "บ้านจักรยาน" บนถนนสวนผัก สถานที่ท่องเที่ยวของเขตตลิ่งชันที่หลายคนอาจไม่คุ้นหู แต่สำหรับคนที่คลั่งไคล้ในเรื่องของจักรยานแล้ว ที่นี่ก็คือสวรรค์ดีๆ นี่เอง
เมื่อมองดูจากภายนอก "บ้านจักรยาน" ก็ดูเหมือนจะเป็นบ้านคนธรรมดาๆ เท่านั้นเอง แต่เชื่อฉันไหมล่ะว่าข้างในนั้นมีจักรยานเป็นพันๆ คันเลยทีเดียว แต่ก็ชักสงสัยเหมือนกัน เพราะเมื่อเข้าไปด้านในแล้วก็ยังไม่เห็นจักรยานสักคัน แต่กลับมีตุ๊กตาดินเผาตัวเล็กตัวน้อยวางอยู่เต็มไปหมด แถมยังมีข้าวของเก่าๆ ประเภทขวดน้ำอัดลม ขวดเหล้าเก่าๆ แบบที่หาไม่ได้ในปัจจุบันแล้ว แถมด้วยพัดลมตั้งโต๊ะ พัดลมแขวนแบบที่ฉันเคยเห็นในหนังย้อนยุคบ่อยๆ หนังสือเก่า และข้าวของหน้าตาโบราณอีกมากมาย เอ๊ะ... ตกลงที่นี่ใช่บ้านจักรยานแน่หรือ
จนเมื่อฉันเดินลึกเข้ามาด้านในของโรงเรือนอีกหลังหนึ่ง จึงได้ถึงบางอ้อว่าจักรยานมากมายมาหลบกันอยู่ตรงนี้นี่เอง และมารู้ทีหลังว่าบรรดาข้าวของมากมายที่ฉันเห็นเมื่อสักครู่นี้นั้น ก็เป็นของสะสมของเจ้าของบ้านเช่นกัน ซึ่งเจ้าของบ้านคนที่ว่าก็คือ อาจารย์ทวีไทย บริบูรณ์ อดีตอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ผู้ซึ่งชื่นชอบการผลิตผลงานเครื่องปั้นดินเผา ถึงขนาดเคยตั้งโรงงานผลิตเครื่องปั้นดินเผาส่งขายทั้งในและต่างประเทศอีกด้วย และแน่นอนว่า "จักรยาน" ต้องเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่อาจารย์ทวีไทยโปรดปรานเช่นกัน
จากครั้งแรกที่ได้รู้จักกับจักรยานเมื่ออายุ 12 ปี และมีจักรยานเป็นของตัวเองครั้งแรกเมื่ออายุ 15 ปี แต่เสน่ห์ของจักรยานก็ทำให้อาจารย์ไทยทวีเกิดความคิดที่จะสะสมจักรยานขึ้น โดยได้เริ่มลงมือเสาะหาจักรยานตั้งแต่ปีพ.ศ. 2538 และหยุดการหาจักรยานมาสะสมในปี 2543 โดยในช่วง 5 ปีนี้ จักรยานที่อาจารย์หามาได้ก็มีจำนวนกว่าพันคันเลยทีเดียว
มาดูบรรยากาศด้านในบ้านจักรยานกันบ้างดีกว่า แน่นอนว่าต้องละลานตาไปด้วยจักรยาน ซึ่งก็มีทั้งวางโชว์เรียงอยู่บนพื้น และแบบที่แขวนโชว์อยู่กลางอากาศ แต่รวมๆ แล้วไม่ว่าจะมองไปด้านไหนก็ล้วนแต่เห็นจักรยานทั้งสิ้น ต้องขอบอกว่าฉันเองก็ไม่ได้เป็นเซียนจักรยานมาจากที่ไหนหรอก ความผูกพันกับจักรยานก็ดูเหมือนจะมีแค่ขี่ได้ ขี่เป็น และชอบขี่เท่านั้นเอง แต่แม้จะเกี่ยวข้องเพียงเท่านี้ฉันก็ยังอดจะตาค้างไม่ได้
นอกจากนั้นยังรู้มาว่าที่นี่มีจักรยานยี่ห้อ "เดตัล" ซึ่งเป็นจักรยานยี่ห้อแรกที่เข้ามาขายในประเทศไทยเมื่อสมัยรัชกาลที่ 5 โน่น และมียี่ห้อชื่อดังในอดีตอย่างราเล่ห์ ฮัมเบอร์ ฟิลลิปส์ เฮอคิวลิส รัดจ์ และบีเอสเอ ฉันว่าถ้าคนรักจักรยานมาเห็นละก็คงต้องตาค้างยิ่งกว่าฉันแน่ๆ
แต่แม้จะมีจักรยานที่มีค่ามีราคาเป็นจำนวนมากขนาดนี้ แต่อาจารย์ทวีไทยก็ไม่ขอเรียกที่แห่งนี้ว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ แต่เรียกว่าเป็นบ้านจักรยานเท่านั้นเอง โดยให้เหตุผลว่าหากจะทำพิพิธภัณฑ์จะต้องมีการจัดเก็บของ รวมทั้งต้องมีการให้ความรู้อย่างมีกระบวนการ ไม่ใช่ว่ามีอะไรมากแล้วก็เรียกว่าเป็นพิพิธภัณฑ์อย่างนั้นไม่ได้ ซึ่งฉันก็ว่าจริงอย่างนั้น เพราะที่บ้านจักรยานนี้อาจจะไม่มีข้อมูล หรือมีป้ายอธิบายรายละเอียดอะไรของจักรยานแต่ละคันเลย แต่ถ้าใครมีข้อสงสัยอะไรหรืออยากได้ความรู้เพิ่มเติมแล้วละก็ สามารถสอบถามพูดคุยกับอาจารย์ทวีไทยได้เลย ไม่มีหวงอยู่แล้ว
จะว่าไปแล้ว การขี่จักรยานนั้นน่าจะเป็นการเดินทางด้วยพาหนะที่ได้ใกล้ชิดธรรมชาติมากที่สุด แถมยังเป็นการออกกำลังกายที่ดีอย่างหนึ่งด้วย แต่ว่าตั้งแต่มาอยู่ในเมืองกรุงนี้แล้วฉันก็ไม่ค่อยจะได้ไปไหนมาไหนด้วยการขี่จักรยานสักเท่าไร เพราะถนนในกรุงเทพก็ยังไม่มีช่องทางเฉพาะสำหรับจักรยาน ฉันกลัวว่าถ้าเกิดขี่ๆ ไปแล้วสักวันอาจโดนรถเมล์สอยไปนอนใต้ล้อรถคงไม่ดีแน่ๆ แต่ถ้ามีใครจัดทำช่องทางของจักรยานขึ้นในถนนสายต่างๆ และมีความปลอดภัยมากพอ ฉันคนหนึ่งนี่แหละที่จะขี่จักรยานไปทำงานไปนู่นไปนี่ ไม่ต้องเปลืองน้ำมันสบายใจดี
หลังจากที่ฉันเดินชมบ้านจักรยานจนอิ่มแล้ว แต่จะกลับบ้านเลยก็ใช่ที่ เพราะไม่ใกล้ไม่ไกลจากบ้านจักรยานนั้นเป็นที่ตั้งของวัดชัยพฤกษ์มาลา วัดเก่าแก่ตั้งแต่กรุงศรีอยุธยาโน่น ไหนๆ ก็ได้มาแถวนี้แล้วฉันจึงตั้งใจว่าจะแวะไปกราบพระเสียหน่อย
สำหรับวัดชัยพฤกษ์มาลานี้ เป็นวัดที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้วโดยไม่มีหลักฐานว่าใครเป็นผู้สร้าง แต่ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น วัดแห่งนี้ก็ได้รับการบูรณะมาตลอด ตั้งแต่รัชกาลที่ 2 ถึงรัชกาลที่ 4 ซึ่งวัดเก่าแก่หลายร้อยปีขนาดนี้ สิ่งก่อสร้างต่างๆ ภายในวัดก็ย่อมมีการเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา แต่ก็ยังมีสิ่งที่หลงเหลืออยู่ก็คือวิหารและอุโบสถเก่าตั้งแต่สมัยอยุธยาซึ่งก็มีการซ่อมแซมต่อเติมหลายครั้งด้วยกัน หลังจากที่ฉันเข้าไปไหว้พระในอุโบสถหลังเก่าที่กำลังซ่อมแซมเรียบร้อยแล้ว ก็เดินมาไหว้พระภายในวิหารหลังเก่าซึ่งอยู่ใกล้ๆ กัน
น่าแปลกใจมิใช่น้อยที่เห็นว่าวิหารหลังนี้มีประตูอยู่ด้านข้าง เป็นประตูเล็กๆ ที่ต้องค้อมตัวลงเวลาเดินผ่าน แถมไม่ได้มีแค่ประตูเดียว แต่มีตั้งห้าบานด้วยกัน ผิดไปจากวัดอื่นๆ ที่จะมีประตูแค่หนึ่งหรือสองบาน หรือมากสุดก็แค่สามบานอยู่ด้านหน้า
มารู้เอาตอนหลังว่า สิ่งที่ฉันเพิ่งเดินผ่านเข้ามาและคิดว่าเป็นประตูนั้น จริงๆ แล้วเป็นหน้าต่างวิหาร แต่เนื่องจากวิหารแห่งนี้ตั้งอยู่ใกล้กับคลอง (คลองมหาสวัสดิ์) จึงเกิดน้ำท่วมบ่อยๆ และต้องถมที่ให้สูงขึ้นเรื่อยๆ เพื่อหนีน้ำ ถมไปถมมาจนพื้นสูงขึ้นมาถึงหน้าต่างจนกลายเป็นทางเข้าทางออกในปัจจุบันนี้
คลองมหาสวัสดิ์นี้ก็น่าสนใจไม่น้อย การขุดคลองนี้เริ่มขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 เพื่อเป็นการเปิดเส้นทางการคมนาคมจากเมืองบางกอกไปยังพระปฐมเจดีย์ รวมทั้งช่วยในเรื่องของการเกษตร ความยาวของคลองก็ประมาณ 28 กิโลเมตร เริ่มตั้งแต่คลองบางกอกน้อยไปจนถึงแม่น้ำนครชัยศรี ระยะทางเท่าๆ กับถนนปิ่นเกล้า-นครชัยศรีนั่นแหละ
เมื่อรัชกาลที่ 4 โปรดฯ ให้ขุดคลองขึ้นแล้ว ก็โปรดฯ ให้สร้างศาลาขึ้นด้วยในทุกๆ 100 เส้น (4 กิโลเมตร) เพื่อไว้เป็นที่พักของชาวบ้าน และเป็นที่รวมตัวทำกิจกรรมต่างๆ จนมาถึงสมัยปัจจุบัน ศาลาเหล่านั้นที่ส่วนมากเหลือแต่เพียงชื่อ ก็ได้กลายเป็นชุมชนต่างๆ เช่นศาลาที่อยู่ตรงกลางของคลองนี้ก็ได้กลายเป็นบ้านศาลากลาง ศาลาหลังหนึ่งที่มีการจารึกตำรายาไว้ ก็เรียกว่าเป็นศาลายา ส่วนศาลาอีกหลังหนึ่งที่ใช้เป็นสถานที่ทำศพ ก็กลายเป็นศาลาทำศพ หรือศาลาธรรมสพน์ในปัจจุบัน
จากที่ก่อนหน้านี้เมื่อพูดถึงสถานที่ท่องเที่ยวย่านตลิ่งชันทีไร ฉันก็มีอันต้องนึกไปถึงตลาดน้ำตลิ่งชันไปเสียทุกที แถมนึกออกอยู่ที่เดียวเท่านั้นด้วย จนเกือบจะพาลคิดไปว่าสงสัยในเขตนี้คงมีที่เที่ยวแค่ที่เดียวจริงๆ แต่ตอนนี้รู้แล้วละว่าในแถบนี้ยังมีสิ่งที่น่าสนใจอยู่อีกมาก อยากให้ลองมาเที่ยวกันดู
บ้านจักรยาน ตั้งอยู่ที่ 76/10 หมู่ 4 ซอยสวนผัก 6 ถนนสวนผัก ตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 การเดินทาง ให้ขับรถตรงเข้ามาในซอยชัยพฤกษ์ เมื่อเจอสามแยกให้เลี้ยวซ้ายเพื่อเข้าสู่ถนนสวนผัก ซอยสวนผัก 6 จะอยู่ทางขวามือ เมื่อเข้ามาในซอยประมาณ 20 เมตร บ้านจักรยานจะอยู่ทางขวามือ เปิดให้ชมทุกวัน เวลา 09.00-17.00 น. โดยไม่เสียค่าเข้าชม สอบถามโทร. 0-2424-4705
บ้านจักรยาน ตั้งอยู่ที่ 76/10 หมู่ 4 ซอยสวนผัก 6 ถนนสวนผัก ตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 การเดินทาง ให้ขับรถตรงเข้ามาในซอยชัยพฤกษ์ เมื่อเจอสามแยกให้เลี้ยวซ้ายเพื่อเข้าสู่ถนนสวนผัก ซอยสวนผัก 6 จะอยู่ทางขวามือ เมื่อเข้ามาในซอยประมาณ 20 เมตร บ้านจักรยานจะอยู่ทางขวามือ เปิดให้ชมทุกวัน เวลา 09.00-17.00 น. โดยไม่เสียค่าเข้าชม สอบถามโทร. 0-2424-4705
วัดชัยพฤกษ์มาลาราชวรวิหาร ตั้งอยู่ที่ 2 หมู่ 4 ตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 การเดินทาง เข้ามาในซอยชัยพฤกษ์เช่นเดียวกัน แต่เมื่อเจอสามแยกให้ตรงไป วัดจะอยู่ทางซ้ายมือ สอบถามโทร.0-2434-1401
(Source : manageronline)
No comments:
Post a Comment