คมชัดลึก : กีฬา

Tuesday, December 16, 2008

เอาจักรยานคืนมา


สถานการณ์การเมืองอยู่ในสภาวะที่ร้อนแรงเหลือเกิน ร้อนแรงจนอากาศที่ว่าร้อนกลายเป็นเรื่องธรรมดา การแสดงความคิดเห็นในเรื่องการเมืองภายใต้สถานการณ์ที่เป็นอยู่ กลายเป็นเรื่องของการเลือกข้าง สีเสื้อเหมือนตัวบ่งชี้ว่าตัวเองจะก้าวเดินไปในทิศทางใด

บางคนคิดหน้าจนไม่กล้าสวมเสื้อสีเหลืองหรือแดงออกจากบ้าน เพราะมีคนหมายหัวแล้วว่าคุณเป็นพวกใด ไม่ขาวก็ดำ ที่จะเลือกอยู่กลางๆ หรือสีเทาๆ ไม่ได้

เป็นนักการเมืองแต่พูดเรื่องการเมืองไม่ได้ ความคิดถูกคนอื่นกำหนดแล้วว่าจะเป็นอย่างไร สู้หันไปคุยเรื่องอื่นรอบๆ ตัวดีกว่า

สะดุดใจและสะดุดความรู้สึกมากที่สุดเห็นจะเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม เพราะเราไม่มีทางเอาอนาคตที่ดีงามให้แก่โลกได้หากเราไม่สามารถให้ความพอดีกับการใช้ธรรมชาติคงไม่ผิดนักหากว่าวันนี้เราจะบอกให้มนุษย์เอาธรรมชาติคืนมา

เมื่อไม่กี่วันก่อนมีโอกาสไปร่วมงาน "เกษตรร่วมใจ 116 วัน จากวันแม่ถึงวันพ่อ" ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน แม้งานนี้จะพบกับผู้คนมากหน้าหลายตาได้เสวนากับผู้หลักผู้ใหญ่หลายต่อหลายคน ประเด็นคงหนีไม่พ้นไปจากเรื่องการเมือง แต่นอกเหนือจากนั้นสิ่งที่ทุกคนมองและคิดเหมือนกัน คือ "ทุกวันนี้เกษตรศาสตร์ไม่เหมือนเดิม"

ย้อนหลังกลับไปไม่ถึง 10 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์แห่งนี้สถาบันอุดมศึกษา ณ บางเขนแห่งนี้ เป็นที่รู้จักกันดีถึงปริมาณการใช้จักรยานเป็นพาหนะว่ามากกว่าใคร ยิ่งหากย้อนถึง 20-30 ปี พาหนะที่เรียกว่ารถยนต์แทบจะไม่มีใครใช้

มองซ้ายมองขวาที่ท้องทุ่งบางเขน นิสิตหรือปัญญาชนของเกษตรศาสตร์มีแต่ใช้กำลังขาในการปั่นจักรยาน อาจารย์ส่วนใหญ่ก็นิยมใช้แต่จักรยาน บุคลากร เจ้าหน้าที่ รวมทั้งคนงานรู้จักและเลือกใช้แต่จักรยาน

ใครต่อใคร ที่นับว่าเป็นคนเกษตรศาสตร์เลือกพาหนะที่หลายคนว่าล้าสมัยเป็นพาหนะ นั่นคือ จักรยาน

มหาวิทยาลัยชั้นนำอื่น ๆ มีแต่คนเบือนหน้าหนีรถยนต์ ขับขี่แต่จักรยานเป็นหลัก

แต่...ทุกวันนี้เกษตรศาสตร์ไม่เหมือนเดิม

แม้ร่องรอยของจักรยานยังมีอยู่ ยังมีคนใช้จักรยานอยู่ แต่น้อยเสียยิ่งกว่าน้อยจนอาจบอกได้ว่าทุกวันนี้ที่บางเขนจักรยานหายไป ถนนในมหาวิทยาลัยซึ่งจักรยานเคยครอบครองเป็นเจ้าถนนกลับถูกยึดครองและแทนที่โดยรถยนต์หันไปทางไหนไม่ว่าจะซ้ายหรือขวาเห็นแต่รถยนต์ รถยนต์ รถยนต์

การใช้จักรยาน การขับขี่จักรยาน เป็นเสมือนวัฒนธรรมของชาวเกษตร หากแต่วัฒนธรรมอันเปรียบเช่นสัญลักษณ์ที่ใครต่อใครรู้จักหายไป วัฒนธรรมการใช้จักรยานหายไป
ผู้เขียนอาจจะดูแก่ไป อายุมากเกินไป หากบอกว่ากำลังคิดถึงอดีต อยากได้อดีตกลับคืนมา หากแต่ความหวังที่อยากได้อดีตคืนมาคงไม่ได้หมายความถึงความทรงจำของวันวานเท่านั้น แต่รวมถึงเหตุผลที่วัฒนธรรมจักรยานมีผลดีกว่าวัฒนธรรมรถยนต์หลายต่อหลายอย่าง รวมทั้งข้อดีต่อมนุษยชาติหลายประการ

สุขภาพ
การใช้จักรยานเป็นการใช้แรงงาน ไม่ใช้น้ำมัน ไม่ใช้เครื่องยนต์ ยิ่งใช้แรงงานมากยิ่งได้เหงื่อมาก การได้เหงื่อจึงเป็นการออกกำลังวิธีหนึ่ง เป็นการออกกำลังแบบธรรมชาติได้งานได้การเดินทางไปพร้อมกัน ยิ่งหากเราทำให้การใช้จักรยานเป็นวัฒนธรรม เป็นวิถีชีวิตปกติของการดำรงตน ยิ่งทำให้การออกกำลังกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เป็นวัฒนธรรมของชุมชนไปโดยปริยาย

มีเหงื่อออก ได้กำลังขา เครื่องจักรที่ใช้ในการเคลื่อนไหวไม่ใช้น้ำมันใช้แต่แรงนั่นเท่ากับการรักษาสุขภาพ การดูแลร่างกายตนเอง

หากเรามีโอกาสดูแลสุขภาพโดยอ้อม ทำให้เรื่องดูแลสุขภาพเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตตน ทำให้เรื่องดูแลสุขภาพเช่นนี้กลายเป็นวัฒนธรรม ย่อมส่งผลต่อร่างกายอย่างแน่นอน เพราะการออกกำลังทำได้ในทุกสถานที่เมื่อมีโอกาส

การใช้จักรยานจึงเป็นการดูแลสุขภาพอีกทางหนึ่ง

สิ่งแวดล้อม

ใครๆ รู้ดีว่าจักรยานไม่ใช้น้ำมัน ผลกระทบต่อสิ่งรอบข้างจึงมีน้อยหรือแทบไม่มีเลย

ต้องยอมรับว่าโลกในวันนี้มีปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมมากมาย ดิน น้ำ ต้นไม้ อากาศ ขยะ ฯลฯ ล้วนแต่มีสภาพที่หลายคนเบือนหน้าหนี สาเหตุที่สำคัญส่วนหนึ่งมาจากการใช้เครื่องจักรกลการใช้น้ำมัน รวมไปถึงการใช้รถยนต์เป็นพาหนะในการเดินทาง หากเราเดินทางมากเท่าใด ใช้น้ำมันมากเท่าใด สภาพแวดล้อมยิ่งสูญเสียมากเท่านั้น


การมีวินัย ใส่ใจในสิ่งรอบข้างตัวเองย่อมทำให้สิ่งแวดล้อมเสียหายน้อยตามไปด้วย แต่จะดีกว่าหากเราใช้จักรยานในการเดินทาง ใช้จักรยานในการเคลื่อนที่สิ่งแวดล้อมที่ดี


สิ่งแวดล้อมที่สมบูรณ์ มาจากการจัดการที่ถูกต้อง และจักรยานเป็นส่วนหนึ่งในนั้น


ลดการใช้พลังงาน
ราคาน้ำมันที่ผันผวน ทำให้เกิดการหันมาใช้พลังงานอย่างอื่นมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นแก๊สโซฮอลล์ ไบโอดีเซล ก๊าซ NGV, LPG โซลาร์เซลล์ รวมไปถึงการหันมาใช้พืชพลังงานทดแทน เช่น สบู่ดำ ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง ฯลฯ


การพยายามหันมาใช้พลังงานอื่นทดแทนน้ำมันเพราะหลายคนมองไปในระยะยาวว่าสู้ไม่ไหว ยามที่ราคาแพงก็แพงจนเดือดร้อนกันไปทั่ว ยามที่ราคาตกกลับไม่มีเหตุผลเอาเสียเลย แถมราคาน้ำมันยังส่งผลกระทบไปยังการผลิตประเภทอื่นด้วย เนื่องจากอิงเอาราคาน้ำมัน ใช้น้ำมันเป็นปัจจัยในการผลิตทั้งนั้น


น่าจะดีกว่าหากเรามีการใช้น้ำมันน้อยลง และน่าจะดีกว่าที่เราไม่ต้องหาพลังงานอื่นมาทดแทนด้วย


การใช้จักรยานเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ที่ต้องการลดการใช้พลังงานระยะทางอาจไกลเกินกว่าการเดิน รถจักรยานจึงเป็นทางเลือกที่เหมาะสมสำหรับการใช้พลังงานร่างกาย เหงื่อที่ออกมากับการปั่นจักรยานหมายถึงเราสามารถลดการใช้พลังงานอื่นได้ด้วย


ภาวะโลกร้อน
อาจดูเป็นเรื่องสมัยใหม่หรือพยายามทำให้ดูทันสมัยรึเปล่า สำหรับการที่จะพูดถึงภาวะโลกร้อน แต่ข้อเท็จจริงคือเป็นเช่นนั้นจริงๆ เพราะภาวะโลกร้อนที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ส่งผลให้ภูมิอากาศไม่แน่นอนเหมือนในอดีต ฝนตก อากาศร้อน พายุถล่ม น้ำท่วม ฯลฯ ล้วนแต่มีคนบอกว่าล้วนมาจากภาวะโลกร้อนทั้งสิ้น


สิ่งที่ยืนยันได้อย่างหนึ่งคือ การพยายามดัดแปลงธรรมชาติ ใช้สิ่งแปลกปลอมธรรมชาติมากผิดปกติ แต่งเติมธรรมชาติมากเกินกว่าที่ควรจะเป็น


วัฒนธรรมจักรยานจึงเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามหวนคืนธรรมชาติ ใช้แรงงานมนุษย์เป็นหลักในการเดินทาง แม้จะเป็นส่วนน้อยสำหรับการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน แต่การใช้จักรยานไม่ซ้ำเติมธรรมชาติ การใช้จักรยานไม่ทำลายธรรมชาติ


ภาวะโลกร้อนจึงแก้ไขได้ด้วยการลงมือทำ ไม่ใช่แค่คำพูดหรือวลีที่สวยหรู


เนื้อที่รอบมหาวิทยาลัยที่กว้างขวาง มีระยะทางกว่า 3 กิโลเมตร ทำให้การใช้จักรยานที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขนมีความเหมาะสม สามารถแบ่งพื้นที่เป็นสัดส่วน แม้จะมีบางคนต้องการใช้รถยนต์ภายในมหาวิทยาลัย เราสามารถจัดโซนให้ใช้ได้ หากเราประสบผลสำเร็จที่นี่อาจขยายผลไปเป็นตัวอย่างให้สถาบันอุดมศึกษาอื่น ทั้งจุฬาลงกรณ์ฯ ธรรมศาสตร์ ศรีนครินทรวิโรฒ ฯลฯ ประการสำคัญคือ จักรยานเป็นสัญลักษณ์ของชาวเกษตรศาสตร์มาก่อน


หากไม่ได้เห็นกับตาตนเอง ไม่ได้รับรู้ด้วยตัวเอง คงแทบไม่น่าเชื่อว่าวันนี้จักรยานของชาวเกษตรศาสตร์กำลังหายไป สิ่งที่เป็นสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยกำลังหายไป


การเมืองมีแต่เรื่องยุ่งๆ หันมาเรียกร้องให้จักรยานกลับคืนมาที่เกษตรศาสตร์บางเขนดีไหม


หากทำได้ นั่นย่อมหมายถึงอนาคตที่สดใสของเราทุกคน






โดย สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล : หนังสือพิมพ์มติชน

No comments:

Post a Comment