คมชัดลึก : กีฬา

Saturday, September 27, 2008

เยี่ยมบ้านจักรยาน ในวันฝนมาห่าใหญ่

วันที่พายุหอบเอาฝนห่าใหญ่ มาเยือนใคร

บางคนอาจปลอบใจตัวเอง หลังแรงพิโรธแห่งธรรมชาติผ่านพ้น ไม่นานฟ้าสีหม่น คงกลับมาแจ่มใส
แต่ระหว่างที่โดนห่าฝนกระหน่ำอย่างไม่ปรานี และรอจนกว่าท้องฟ้ากลับมาแจ่มใส บ้านเรือนบางหลังที่ต้านวิกฤติไม่ไหว อาจแพ้ภัยพายุ เหลือแต่ซากหักพังไว้ให้ดูต่างหน้า

สภาพเศรษฐกิจและความวุ่นวายในบ้านเมืองยามนี้ ไม่ต่างกับพายุฝนห่าใหญ่เท่าใดนัก นอกจากนักลงทุนส่วนหนึ่งเริ่มเบื่อหน่าย ย้ายทั้งเงินทุนและฐานการผลิต เผ่นไปประเทศอื่น
ในแง่ความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ยังถูกแรงกระทบโดยตรงจากการที่คนส่วนใหญ่ ระมัดระวังในการท่องเที่ยว และใช้จ่ายมากขึ้น

ในแง่เศรษฐศาสตร์ การที่ผู้คนพากันรัดเข็มขัด ไม่กล้าจับจ่าย กลับเป็นผลร้ายมากกว่าผลดี เพราะกระแสหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ ไม่ต่างจากการสูบฉีดโลหิต ส่งไปหล่อเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย

คราใดที่เลือดลมเริ่มติดขัด เดินไม่สะดวก อีกไม่นานผลร้ายก็ตามมา

แม้รัฐบาลรักษาการได้ประกาศยกเลิกพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินพื้นที่ กทม.ไปแล้ว เมื่อวันที่ 14 ก.ย. 2551
ภาคธุรกิจเอกชนโดยรวม หวังกันว่า จากนี้ไปสถานการณ์คงดีขึ้น
แต่สำหรับ สันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ผู้คร่ำหวอดอยู่ในธุรกิจอุตสาหกรรม ก็ยังแน่ใจไม่ได้ว่า อนาคตอันใกล้ อาจมีการ ยุบพรรคการเมือง หรือ ยุบสภา ตามมาอีก

สันติเชื่อว่า ผลพวงทางการเมืองทั้ง 2 อย่าง น่าจะเกิดขึ้นภายในไม่เกิน 2-3 เดือน หลังจากได้ตัวนายกรัฐมนตรีคนใหม่
สะท้อนให้เห็นว่า ลึกทๆทแล้วยังคงมีความกังวลใจเรื่องเศรษฐกิจพ่วงการเมือง ในหมู่นักธุรกิจอุตสาหกรรม ซึ่งรู้ดีว่า ตราบใดที่พรรคพลังประชาชนยังเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลผสมชุดใหม่
ตามรูปการณ์นี้ เท่ากับว่า จากนี้ไปยังไม่มีใครสามารถชี้ชัดว่า ความวุ่นวายทางการเมือง จะกลับมาพ่นพิษใส่เศรษฐกิจให้บอบช้ำไปอีกนานเพียงใด

แต่ที่แน่ ๆ หนึ่งในผู้ที่ได้รับผลกระทบจากพิษเศรษฐกิจ และการเมืองช่วงที่ผ่านมา เข้าแล้วอย่างจัง ก็คือ เจ้าของพิพิธภัณฑ์เอกชน


อาจารย์ทวีไทย บริบูรณ์ วัย 66 ปี เจ้าของพิพิธภัณฑ์ “บ้านจักรยาน” หนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมมีชื่อเสียง ย่านถนนสวนผัก (ซอย 6) เขตตลิ่งชัน เปรียบเปรยว่า

สถานภาพของบ้านจักรยานเวลานี้ ไม่ต่างกับเรือกลางทะเล ที่กำลังผจญกับพายุฝนห่าใหญ่ ทั้งจากการเมืองและเศรษฐกิจ ที่ซัดกระหน่ำ
ช่วงที่ยังไม่เกิดวิกฤติทางการเมืองและเศรษฐกิจ เฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ เคยมีผู้คนมากหน้าหลายตาแวะไปเยี่ยมชม “บ้านจักรยาน” เฉลี่ยวันละไม่ต่ำกว่า 40-100 ราย ในวันธรรมดามีไม่ต่ำกว่า 20-30 ราย

ผิดกับช่วงนี้ “บ้านจักรยาน” แลดูเหงาจับหัวจิตหัวใจ นานๆทีจึงจะมีผู้แวะเวียนเข้าไปชมสักราย เจ้าของสถานที่ประเมินว่า อาจเป็นเพราะนาทีนี้คนส่วนใหญ่คงไม่มีอารมณ์จะเสพสุขกับอาหารตา สู้เอาเวลาไปห่วงเรื่องหากินปากท้องไว้ก่อนดีกว่า
อาจารย์ทวีไทยออกตัว “บ้านจักรยาน” วันนี้ยังไม่ถึงขั้นที่เรียกได้ว่า เป็นพิพิธภัณฑ์ เป็นได้อย่างมากก็แค่ “บ้านของนักสะสม” และตัวเขาก็เป็นนักสะสมคนหนึ่ง


หลายแห่งในเมืองไทย ที่เรียกตัวเองว่า พิพิธภัณฑ์ ผมว่ายังเป็นได้อย่างไม่ครบถ้วน หรือถึงจะใกล้เคียงกับคำว่า พิพิธภัณฑ์ ก็เป็นได้แบบไม่จีรัง นับวันมีแต่เสื่อมลง
เมื่อเปิดแสดงไปสักช่วงหนึ่ง ถ้าไม่สามารถจัดหาอะไรแปลกใหม่มาแสดงเพิ่ม เพื่อเรียกความสนใจจากคนดูได้ ต่อไปก็จะไม่มีใครไปดู”

พิพิธภัณฑ์ที่สมบูรณ์แบบตามนิยามของอาจารย์ทวีไทย อย่างแรก ต้องมีรูปแบบและของที่จะโชว์ครบถ้วน ถัดมา ต้องให้ข้อมูลแก่ผู้อื่นได้ และประการสุดท้าย ต้องมีข้อจำกัดในวิถีทางของมันเอง
เช่น มีของโชว์อยู่ 10 ชิ้น จะต้องดำรงไว้ตลอดไปทั้ง 10 ชิ้น ไม่ก็หา มาโชว์เพิ่ม แต่จะไม่มีวันลดลง
ตราบใดที่ของโชว์ยังมีการเคลื่อนไหว เช่น ขายออกให้ผู้ไปเยี่ยมชม เช่นเดียวกับรูปแบบของ “บ้านจักรยาน” ที่ใครใคร่ชม ก็ชมฟรี ใครใคร่ซื้อ (ถ้าสู้ราคาไหว) เขาก็ยินดีขายให้ สถานที่เช่นนี้ ยังเรียกไม่ได้ ว่า พิพิธภัณฑ์ เป็นแค่ “แหล่งรวมของเก่า” มากกว่า
ทำนองเดียวกับบางสถานที่ นำเรือโบราณหลายชนิดมาตั้งโชว์ แต่มีไม่ครบทุกชนิด อย่างนี้ก็ยังไม่ถึงขั้นเรียกว่า พิพิธภัณฑ์ เช่นกัน

“บ้านจักรยาน” ของ อ.ทวีไทย เปิดตัวอย่างเป็นทางการ (ให้เข้าชมฟรี) มาตั้งแต่วันที่ 10 มี.ค. 2542 หรือจนถึงขณะนี้ เป็นเวลาเกือบ 1 ทศวรรษ
สถานที่แห่งนี้ ร่มรื่นด้วยแมกไม้ คละเคล้าด้วยกลิ่นอายบรรยากาศของบ้านไม้แบบโบราณ ที่รู้สึกและสัมผัสได้ ตั้งแต่ก้าวแรกที่ย่างเท้าเข้าไปเยือน
นอกจากมีจักรยานรุ่นเก่าจอดเรียงหลายสิบคัน อุปกรณ์และชิ้นส่วนจักรยานนับพันชิ้น ยังมีรถยนต์โบราณ และของสะสมที่เป็นเครื่องใช้ในอดีต หาดูได้ยาก อีกนับไม่ถ้วน
ทั้ง ตลับยาหม่อง ซองยา ขวดแป้ง ขวดยา ขวดน้ำปลา ขวดหมึก ขวดน้ำอัดลม แก้วน้ำ กระป๋องนม กระปุกใส่น้ำมันแต่งผม ปากกา หมึกซึม กระบอกไฟฉาย ป้ายเหล็กโฆษณา นาฬิกาพก ตู้ไม้เก่า สลากกินแบ่งฯ กระต่ายขูดมะพร้าว ไม้เท้า ไม้คมแฝก ฯลฯ
ของเก่าเล่าอดีตเหล่านี้ คะเนด้วยสายตารวมกันไม่น่าต่ำกว่า 5 พันชิ้น แม้แต่เจ้าของเอง ก็ไม่เคยนับ แต่เจ้าตัวบอกว่าเขาใช้เวลาเสาะหา และรวบรวมอยู่หลายสิบปี แต่ละชิ้นมีอายุประมาณ 20-70 ปีขึ้นไป
บางชิ้นอาจหลงเหลืออยู่เพียงชิ้นเดียวในเมืองไทย เพราะไม่เช่นนั้น ทายาทเจ้าของโรงงานยาบางยี่ห้อ ซึ่งคนไทยรู้จักดี คงไม่บากบั่นไปขอซื้อผลิตภัณฑ์รุ่นแรก ที่ทางโรงงานผลิตขายเมื่อ 40-50 ปีก่อน เพื่อนำไปเก็บไว้ในกรุพิพิธภัณฑ์ยา
อ.ทวีไทยเผยเคล็ดลับว่า การเสาะหาของเก่าน่าสะสม ก็เหมือนกับการเลือกหาผู้หญิงสักคนมาเป็นภรรยา
“มีทั้งออกไปหาเอง เดินไปเจอโดยบังเอิญ บางชิ้นก็เหมือนกับภรรยาเรา ที่เฝ้ารอแต่เราเท่านั้นไปเป็นสามี หรือเจ้าของ มันอาจเป็นเพราะมีกรรมผูกพันกันอยู่ ของบางชิ้นไปทีแรกยังไม่ได้ ต้องใช้เวลาตามตื๊อถึง 9 ปี ก็มี”
นักสะสมวัย 66 บอกว่า ทุกวันนี้เขาเริ่มลดสัดส่วนการเก็บของสะสมที่ชื่นชอบ เหลือเพียงอย่างละ 40 เปอร์เซ็นต์ เทียบกับสมัยก่อน มีกี่ชิ้นเก็บไว้หมด
โดยให้เหตุผลว่า ของทุกชิ้นที่สะสม เปรียบเสมือนพระสมเด็จวัดระฆัง ที่เปลี่ยนมือเจ้าของมานับไม่ถ้วน แต่ก็ไม่เคยอยู่กับใครได้นานเกินกว่าชั่วชีวิตของคนผู้นั้น
“ผมเคยสังเกต ถ้าเราบอกว่า ให้ดูฟรี แต่ไม่ขาย เผลอทีไรเป็นโดนขโมยทุกที ช่วงหลังๆเลยตัดสินใจขายออกเป็นบางส่วน แต่ตั้งราคาไว้สูงหน่อย
เพราะถ้าขายถูก นอกจากคนที่ซื้อไปไม่เห็นคุณค่า ป่านนี้ผมคงไม่เหลืออะไรไว้โชว์”

อ.ทวีไทยเชื่อว่า ทุกสิ่งในโลก ล้วนมีการเปลี่ยนแปลงเป็นนิรันดร์ เพียงแต่เกิดขึ้นตามวาระและโอกาส
“สถานการณ์บ้านเมืองยามนี้ ไม่ต่างกับฝนห่าใหญ่กระหน่ำประเทศ ถ้าต้องตั้งตารอจนกว่าฝนหยุดตก ด้วยการพึ่งรายได้จากการขายของที่สะสมไว้อย่างเดียว ป่านนี้ผมคงแย่ แต่ที่อยู่ได้ เพราะผมมีอาชีพอื่นให้ทำอีกร้อยแปด”.




ขอขอบคุณ ไทยรัฐ

1 comment: