ประวัติความเป็นมา ความขัดแย้งทางอุดมการทำให้เกิดสงครามก่อการร้ายขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2508 โดยเฉพาะในพื้นที่รอยต่อ 3 จังหวัดคือเพชรบูรณ ์พิษณุโลก เลย ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลได้ยึดเอาพื้นที่ที่มีสภาพเป็นป่าเขา ยากที่ฝ่ายรัฐบาลจะปราบปรามได้ โดยใช้เขาค้อเป็นศูนย์กลางกองทัพบกได้มอบหมายให้กองทัพภาคที่ 3 รับผิดชอบในการต่อสู้กับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ โดยจัดตั้งกองบัญชาการผสม 394 ขึ้นที่สนามบิน อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ เมื่อวัยที่ 25 ธันวาคม 2511 ปัจจุบันเป็นที่ตั้งกองบัญชาการผสมพลเรือน ตำรวจ ทหาร ที่ 33 (พตท..33) ได้ดำเนินการต่อสู้อย่างต่อเนื่องโดยผ่านยุทธการที่สำคัญรวม 12 ครั้ง เช่น ยุทธการภูขี้เถ้า ยุทธการรามสูร ยุทธการผาเมืองเผด็จศึก 1-3 ยุทธการผาเมืองเกรียงไกร ฯลฯ เป็นต้น เมื่อ ประมาณปี พ.ศ. 2514 - 2515 ได้เริ่มสร้างถนนแยกจากถนนพิษณุโลก - หล่มสัก ตรงบริเวณกิโลเมตรที่ 100 บ้านแคมป์สนไปยังบ้านเล่าลือ
ในปีพ.ศ.2517 ได้มีแนวความคิดที่จะลดความกดดันการขัดขวางงานของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย โดยการสร้างถนนอีกสายหนึ่งจากบ้านนางั่วถึงบ้านสะเดาะพง เพื่อเชื่อมกับถนนสายแรกที่บ้านสะเดาะพง ซึ่งได้รับการขัดขวางต่อต้านอย่างรุนแรงจนก่อให้เกิดความเสียหายอย่างหนักทั้งสองฝ่าย ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จฯเยี่ยมกองรบพิเศษค่ายสฤษด์เสนา จังหวัดพิษณุโลกทรงมีพระราชดำริที่จะให้พื้นที่สองข้างทาง เป็นประโยชน์กับราษฎรทั่วๆ ไปมิใช่เฉพาะทหารกองทัพภาคที่3 จึงได้จัดตั้งหมู่บ้านยุทธศาสตร์พัฒนาขึ้น โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวนหนึ่งเป็นทุนในการ ดำเนินงานครั้งแรก โดยตั้งเป็น "กองอำนวยการโครงการพัฒนาลุ่มน้ำเข็ก" โดยมีงานหลักในการสร้างเส้นทาง ทุ่งสมอ - เขาค้อ ลาดยางตลอดสายฝึกอบรมและติดอาวุธราษฎรอาสาสมัครจัดที่ดินทำกินให้ราษฎรจัดหาแหล่งน้ำ เพื่อการเกษตร และเรียกโครงการนี้ว่า "โครงการพัฒนาลุ่มน้ำเข็ก"และเริ่มด-เนินการ เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2520 กระทรวงมหาดไทยได้เล็งเห็นความสำคัญของพื้นที่ดังกล่าว จึงได้ออกประกาศกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 20 สิงหาคม 2527 จัดตั้งกิ่งอำเภอเขาค้อ โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 สิงหาคม 2527 เป็นต้นไป
อำเภอเขาค้อ รวมเอาพื้นที่ตำบลแคมป์สนจำนวน12หมู่บ้านตำบลทุ่งสมอจำนวน 8 หมู่บ้าน ทั้งสองตำบลอยู่ในเขต การปกครองของอำเภอหล่มสักและพื้นที่ตำบลนางั่วจำนวน 3 หมู่บ้าน ในเขตการปกครองของอำเภอเมืองเพชรบูรณ์ ซึ่งพื้นที่ทั้งหมดเป็นพื้นที่ตามโครงการพระราชดำริในโครงการพัฒนาลุ่มน้ำเข็กเดิม จัดตั้งขึ้นเป็นกิ่งอำเภอเขาค้อ ขึ้นการปกครองกับอำเภอหล่มสักจังหวัดเพชรบูรณ ์สำหรับเหตุผลในการตั้งชื่ออำเภอเขาค้อมีอยู่ว่า เนื่องจาก เป็นสถานที่ตั้งอำเภอ ตั้งอยู่ในบริเวณเขาค้อ สภาพพื้นที่ทางธรรมชาติเป็นภูเขาและมีต้นค้อมาก และเหตุผล อีกประการหนึ่งคือชื่อ "เขาค้อ" เป็นที่รู้จักของประชาชนทั่วประเทศ ในฐานะเป็นพื้นที่ซึ่งพลเรือน ตำรวจทหารได้พลีชีพเพื่อชาติในการกวาดล้างผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ อันเป็นวีรกรรมที่ทราบ โดยทั่วกัน ภูมิศาสตร์ที่ว่าการอำเภอเขาค้อตั้งอยู่ในบริเวณบ้านกนกงาม (บ้านเขาค้อ) ติดถนนสาย แคมป์สน - สะเดาะพง ตรงบริเวณหลักกิโลเมตรที่ 21 มีพื้นที่ประมาณ 1,333 ตารางกิโลเมตร
อุทยานแห่งชาติเขาค้อ
เขาค้อ เป็นชื่อเรียกรวมทิวเขาน้อยใหญ่ของเทือกเขาเพชรบูรณ์ ในเขตอำเภอเขาค้อ เหตุที่เรียกกันว่า เขาค้อ เป็นเพราะป่าบริเวณนี้มีต้นค้อขึ้นอยู่มาก เนื่องจากภูมิอากาศบนเขาค้อเย็นตลอดปี ค่อนข้างเย็นจัดในฤดูหนาวและมีทัศนียภาพสวยงาม จึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมมากที่สุดแห่งหนึ่งของเพชรบูรณ์
เขาค้อประกอบด้วยภูเขาสลับซับซ้อนมากมาย ยอดเขาค้อ มีความสูงประมาณ 1,174 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล เขาย่าสูง 1,290 เมตรและเขาใหญ่ สูง 865 เมตร นอกจากนั้นยังมีเขาตะเคียนโง๊ะ เขาหินตั้งบาตร เขาห้วยทราย และเขาอุ้มแพ ลักษณะป่าไม้ในแถบนี้เป็นป่าเต็งรังหรือป่าไม้สลัดใบ ป่าสน และป่าดิบ ที่น่าสนใจก็คือ พันธุ์ไม้ตระกูลปาล์ม ลักษณะคล้ายต้นตาล แต่ออกผลเป็นทะลายคล้ายหมาก แม้ปัจจุบันป่าจะถูกถางไปมากก็ตาม แต่ก็ยังมีให้เห็นอยู่บ้าง
สถานที่ท่องเที่ยงบนเขาค้อ นอกจากสถานที่ที่มีความสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์แล้ว เขาค้อยังมีความสวยงามให้ชื่นชมได้ตลอดทั้งปี โดยเฉพาะการขึ้นไปชมทะเลหมอกในฤดูหนาว ซึ่งมีที่พักหลายแห่งสามารถเห็นทะเลหมอกที่สวยงามได้ในตอนเช้า ส่วนในฤดูร้อนก็ยังมีนักท่องเที่ยวนิยมมาเที่ยวชม เนื่องจากมีอุณหภูมิเฉลี่ยต่ำ ทำให้มีอากาศเย็นตลอดทั้งปี
สถานที่น่าสนใจบนเขาค้อ
อนุสาวรีย์จีนฮ่อ เป็นอนุสาวรีย์ทหารอาสาจากหน่วยรบกองพลที่ 93 ซึ่งมาช่วยรบในพื้นที่เขาค้อ และเสียชีวิตในการสู้รบ ตั้งอยู่เลยกิโลเมตรที่ 23 ของทางหลวงหมายเลข 2196 ไปเล็กน้อย
ฐานอิทธิ (พิพิธภัณฑ์อาวุธ) อยู่เลยกิโลเมตรที่ 28 ทางหลวงหมายเลข 2196 (ไปเล็กน้อย แล้วแยกขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 2323 ไปประมาณ 3 กิโลเมตร เป็นจุดหนึ่งที่เห็นทิวทัศน์สวยงามและเคยเป็นฐานสำคัญทางยุทธศาสตร์ในอดีต ปัจจุบันจัดเป็นพิพิธภัณฑ์อาวุธ จัดแสดงปืนใหญ่ ซากรถถัง และอาวุธที่ใช้สู้รบกันบนเขาค้อ มีห้องบรรยายสรุปแก่ผู้เข้าชมเป็นหมู่คณะด้วย เปิดให้เข้าชมทุกวัน ค่าเข้าชมคนละ 10 บาท
อนุสรณ์สถานผู้เสียสละเขาค้อ อยู่บนยอดเขาสูงสุดของเขาค้อ อยู่เลยฐานอิทธิ ไปอีก ๑ กิโลเมตร สร้างขึ้นเพื่อเทิดทูนวีรกรรมของพลเรือน ทหาร ตำรวจ ทหาร ผู้พลีชีพในการสู้รบเพื่อปกป้องพื้นที่ในเขตรอยต่อ ๓ จังหวัด คือ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ และเลย ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๑-๒๕๒๕ โดยสร้างด้วยหินอ่อนเป็นรูปสามเหลี่ยมสูง 24 เมตร หมายถึง การปฏิบัติการร่วมกันระหว่างพลเรือน ตำรวจ ทหารในปี พ.ศ. ๒๕๒๔ ผนังภายในบันทึกประวัติอนุสรณ์สถานและรายชื่อวีรชนผู้เสียสละไว้ด้วย การเดินทาง ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข ๒๑๙๖ ไปจนถึงกิโลเมตรที่ ๒๘ ไปเล็กน้อย มีทางแยกขวาไปเส้นทางหมายเลข ๒๓๒๓ ประมาณ ๓ กิโลเมตร รวมระยะทางประมาณ ๓๑ กิโลเมตร
พระบรมธาตุเจดีย์กาญจนาภิเษก ตั้งอยู่บนยอดเขาค้อ ติดกับสำนักสงฆ์วิชมัยปุญญาราม ยอดเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่อัญเชิญมาจากประเทศศรีลังกา เจดีย์แห่งนี้ชาวเพชรบูรณ์สร้างขึ้นเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสทรงครองราชย์ครบ ๕๐ ปี ในวันสำคัญทางศาสนา เช่น วันมาฆบูชาจะมีประชาชนเดินทางมาประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ทำพิธีเวียนเทียนเป็นประจำ
หอสมุดนานาชาติเขาค้อ ตั้งอยู่ที่เดียวกับเจดีย์พระบรมสารีริกธาตุ เป็นหอสมุดขนาดใหญ่ออกแบบเป็นรูปเพชรคว่ำ สร้างด้วยกระจกสะท้อนแสง ภายในเก็บรักษาหนังสือทั้งภาษาไทยและ ภาษาต่างประเทศ ในเดือนธันวาคมของทุกปีจะมีการจัดงาน “วันนัดพบเอกอัครราชทูต ณ เขาค้อ”โดยเชิญเอกอัครราชทูตจากประเทศต่างๆ มาร่วมชมการแสดงศิลปวัฒนธรรมของจังหวัด
เจดีย์พระบรมสารีริกธาตุเขาค้อ ตั้งอยู่บนยอดเขาติดกับหอสมุดนานาชาติเขาค้อ บ้านกองเนียม หมู่ที่ ๔ ตำบลเขาค้อ ที่ยอดเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่อัญเชิญมาจากประเทศศรีลังกา เจดีย์แห่งนี้ชาวเพชรบูรณ์สร้างขึ้นเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสทรงครองราชย์ ๕๐ ปี และเป็นที่สักการะบูชาของพุทธศาสนิกชน ในวันสำคัญทางศาสนาจะมีประชาชนและนักท่องเที่ยวร่วมกันประกอบพิธีทางศาสนา เช่น พิธีเวียนเทียน
พระตำหนักเขาค้อ ตั้งอยู่บนเขาย่า พระตำหนักนี้สร้างขึ้นเพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายแด่องค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสที่เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรงานโครงการในพระราชดำริและทรงตรวจเยี่ยมราษฎรอำเภอเขาค้อและอำเภอใกล้เคียง เป็นอาคารคอนกรีตครึ่งวงกลมมีทั้งหมด ๑๕ ห้อง รูปทรงแปลกตาไปจากพระตำหนักอื่น สามารถขออนุญาตเจ้าหน้าที่เข้าชมบริเวณโดยรอบพระตำหนักได้ การเดินทาง ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข ๒๑๙๖ พอถึงประมาณกิโลเมตรที่ ๒๙ ให้ไปอีกประมาณ ๔ กิโลเมตร มีทางแยกด้านซ้ายไปพระตำหนัก ทางขึ้นเขาค้อค่อนข้างสูงชัน รถยนต์ควรมีสภาพดี และกำลังเครื่องยนต์สูง
การเดินทาง จากเพชรบูรณ์ไปเขาค้อใช้ทางหลวงหมายเลข 21 (เพชรบูรณ์-หล่มสัก) ถึงสามแยกนางั่ว ระยะทางประมาณ 13 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงหมายเลข 2258 อีก 30 กิโลเมตร อีกเส้นทางหนึ่งคือ ไปตามทางหลวงหมายเลข 12 (พิษณุโลก-หล่มสัก) ถึงหลักกิโลเมตรที่ 100 (บ้านแคมป์สน) เลี้ยวซ้ายเข้าเขาค้อตามทางหลวงหมายเลข 2196 อีกประมาณ 33 กิโลเมตร พาหนะที่จะขึ้นเขาค้อ ไม่ควรใช้รถบัสขนาดใหญ่ เพราะมีทางโค้งมาก ถนนค่อนข้างแคบและลาดชัน ควรใช้รถปิคอัพหรือรถตู้สภาพดี
นักท่องเที่ยวที่เดินทางโดยรถประจำทางสามารถเช่ารถสองแถวได้ที่ปากทางขึ้นเขาค้อ บริเวณแคมป์สน กิโลเมตรที่ 100 ในราคาวันละประมาณ 600 บาท มีรถจอดคอยให้บริการตั้งต่เวลา 08.00-17.00 น. หรืออาจเช่ารถสองแถวที่บริเวณตลาดเทศบาล ในตัวเมืองเพชรบูรณ์ ราคาวันละประมาณ 800 บาท
ที่พักบนเขาค้อ ที่เขาค้อมีรีสอร์ตที่พักให้เลือก เป็นจำนวนมากส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณตำบลทุ่งสมอและแคมป์สน ห่างจากสถานที่ท่องเที่ยวบนเขาค้อประมาณ 30 กิโลเมตร ที่พักที่อยู่ใกล้ที่สุดได้แก่ บ้านพักทหารม้า กิโลเมตรที่ 28 ทางหลวงสาย 2196 กองพลทหารม้าที่ 28 และเรือนพักผู้ติดตามอยู่ใกล้กับพระตำหนักเขาค้อและเขาย่า ส่วนรีสอร์ทต่างๆ ที่ตั้งเรียงรายอยู่ตามเส้นทางขึ้นเขาค้อ
ขอขอบคุณ เขาค้อดอทคอม
No comments:
Post a Comment