คมชัดลึก : กีฬา

Friday, June 20, 2008

น่าห่วงคุณผู้หญิงสวมส้นสูง

ผู้หญิง ความงาม และการแต่งตัว ต่างเกิดมาเพื่อกันและกัน การที่ผู้หญิงคนหนึ่งลุกขึ้นมาแต่งเนื้อแต่งตัว ก็เพื่อเพิ่มความเด่น ลบความด้อย เสริมบุคลิกภาพในการเข้าสังคมโดยเฉพาะรองเท้าส้นสูง ดูจะเป็นเครื่องแต่งกายชิ้นหนึ่งที่คุณผู้หญิงให้ความสำคัญ เมื่อสวมแล้วเดินสวย ๆ เข้ากับเสื้อผ้าที่ใส่ยิ่งส่งให้ดูสง่าผ่าเผยขึ้นทันตา แต่การสวมรองเท้าส้นสูงบ่อยๆ อาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมาได้

จากการพูดคุยกับรองศาสตราจารย์ นายแพทย์ พงษ์ศักดิ์ ยุกตะนันท์ แผนกแผนกศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์ และกายภาพบำบัด โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เผยถึงปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นกับคุณผู้หญิงที่สวมรองเท้าส้นสูงเป็นประจำ จะมีอาการ เช่น ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เกิดโรคข้อนิ้วหัวแม่เท้าเสื่อม แข็ง เก ผิดรูปหรือซ้อน รวมทั้งอาจเกิดรอยด้านบริเวณผิวหนังที่ถูกเสียดสี เป็นตาปลา เกิดก้อนแข็ง ๆ ปูดนูนขึ้น เจ็บบริเวณเล็บ หรือเล็บขบ


อีกทั้งขณะที่สวมรองเท้าส้นสูง อวัยวะบางส่วนของร่างกายต้องรับบทหนัก


เริ่มที่ หลังส่วนกลาง : จะต้องบิดโค้งเพิ่มมากขึ้น, เชิงกราน : ถูกยกอย่างไม่สมดุล ทำให้กล้ามเนื้อบริเวณเชิงกรานอ่อนแอ, เข่า : ต้องรับน้ำหนักมากขึ้น อาจทำให้เกิดอาการปวด โรคกระดูก หรือข้อต่ออักเสบตามมา, น่อง : การเดินเขย่งจะทำให้กล้ามเนื้อน่องสั้นขึ้น, ข้อเท้า : การขยับข้อเท้าในขณะสวมรองเท้าอยู่นั้น หากทำผิดจังหวะ อาจทำให้ข้อเท้าแพลง, เท้า : ส่วนที่รับบทหนัก เพราะต้องรักษาดุลไปด้านหน้า ส่งผลต่อกระดูกที่ฝ่าเท้าอาจมีอาการปวดเมื่อย จนอักเสบ การใส่ส้นสูงเกิน 1 นิ้วครึ่งจะทำให้แนวกระดูกสันหลังช่วงล่างแอ่นมากกว่าปกติ ซึ่งจะนำมาสู่การปวดหลัง


อาการทั้งหมดที่กล่าวมา ไม่จำเป็นว่าจะต้องเกิดขึ้นกับคุณผู้หญิงทุกคนเสมอไป เพราะแต่ละคนมีรูปเท้า หรือลักษณะเท้าที่แตกต่างกัน เช่น รูปเท้าเรียว อวบนูน จะไม่ค่อยเกิดปัญหา แต่รูปเท้าแบนราบ มักเกิดอาการปวดเมื่อย ทั้งนี้เพราะฝ่าเท้าจะสัมผัสกับพื้นรองเท้ามากเป็นพิเศษ ประกอบกับพื้นรองเท้าส่วนใหญ่จะแคบ ทำให้เท้าถูกบีบรัดตัว ผู้มีรูปเท้าแบน จึงควรเลือกรองเท้าพื้นกว้าง ๆ จะปลายกว้างหรือปลายแหลมก็ได้


หากมีอาการปวดเมื่อยเท้า ควรแช่ด้วยน้ำอุ่นจัด ด้วยระดับน้ำที่สูงถึงครึ่งน่อง นาน 10-15 นาที พร้อมทั้งออกกำลังเท้าและนิ้วเท้า โดยกระดกปลายเท้าขึ้น-ลง เหยียดงอนิ้วเท้า หันฝ่าเท้าสลับเข้า-ออก หรือใช้มือบีบนวดบริเวณอุ้งเท้า ซึ่งเป็นส่วนที่มีเส้นเลือดและเส้นประสาทจำวนวนมาก จะช่วยบรรเทาอาการเมื่อยลงได้


สำหรับผู้ที่มีอาการเท้าแพลง เบื้องต้นในระยะ 1-2 วันแรก ใช้น้ำแข็งประคบ 5-10 นาที วันละ 2-3 ครั้ง พันด้วยผ้ายืด พักการใช้งานข้อเท้า หากอาการยังไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์


เมื่อใช้งานเท้าหนัก ก็ควรดูแลเท้าด้วยวิธีง่ายๆ ทำได้ที่บ้าน อย่างการทำ ‘สปาเท้า’ เพราะแค่มีมะขามเปียก สบู่เหลวหรือสบู่ก้อน แปรงสีฟันเก่าที่เลิกใช้ สำลี โทนเนอร์ และโลชั่นน้ำนม ก็สามารถทำได้แล้ว


เริ่มจากการขัดด้วยมะขามเปียก ตามด้วยสบู่ ขัดไปเรื่อย ๆ ให้รู้สึกผ่อนคลาย นำแปรงสีฟันมาถูบริเวณรอยดำ รอยด้าน จากนั้นใช้สำลีชุบโทนเนอร์ ขัดบริเวณที่ด้าน เช่น ส้นเท้า สุดท้ายค่อยลงโลชั่นน้ำนมให้ทั่ว คุณก็จะได้เท้าที่สะอาด ผ่อนคลาย หากพอมีเวลาควรทำสปาเท้าอย่างน้อย 1 ครั้งต่อสัปดาห์


เห็นทีคุณผู้หญิงคงจะต้องพิถีพิถันกับการดูแลเท้าให้มากขึ้น หากไม่สามารถเลิกสวมรองเท้าส้นสูงทั้ง ๆ ที่มีอาการปวดเมื่อย ก็ควรลดความสูงลงบ้าง รวมทั้งการฝึกเดิน-ยืน โดยการเขย่ง คล้ายๆ กับเวลาที่สวมรองเท้าส้นสูงเพื่อสร้างความคุ้นเคย และอย่าลืมดูแลเท้าตามคำแนะนำ เพื่อสุขภาพเท้าที่ดี และการเดินบนรองเท้าส้นสูงคู่สวยด้วยความมั่นใจ.


ขอขอบคุณ women.sanook.com

1 comment: