"เสียงรถด่วนขบวนสุดท้าย แว่วดังฟังแล้วใจหาย หัวใจน้องนี้แทบขาด..." ฉันเดินฮัมเพลง "ด่วนพิศวาส" ของคุณป้าผ่องศรี วรนุช มาแต่ไกล เพื่อให้เข้ากับบรรยากาศของการมาชมสถานีรถไฟในวันนี้
นี่ก็ใกล้จะถึงฤดูท่องเที่ยวหน้าหนาวแล้ว และการท่องเที่ยวโดยทางรถไฟก็ยังคงเสน่ห์มีมนต์ขลังที่แตกต่างจากการเดินทางแบบอื่น ฉันเองเวลาได้ยินเสียงหวูดรถไฟดังทีไรใจมันก็เต้นตึกตักออกอาการตื่นเต้น และเมื่อรถไฟขบวนยาวเหยียดค่อยๆขยับเคลื่อนไหวไปบนรางรถไฟ ก็ให้รู้สึกว่ามันเป็นพาหนะที่สง่างามเสียจริง วิ่งไปที่ไหนใครๆก็ต้องยอมหยุดให้รถไฟผ่านไปก่อน
เชื่อว่าในช่วงปลายปีนี้คงมีหลายคนที่จะเลือกใช้บริการรถไฟในการเดินทางท่องเที่ยวหรือไปทำธุระที่ต่างจังหวัด วันนี้ฉันจึงจะขอพาทัวร์สถานีรถไฟเสียเลย โดยจะไปยังสถานีรถไฟแห่งสำคัญสองแห่งของฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรี ที่นอกจากจะมีความสำคัญตรงที่เป็นศูนย์กลางของการเดินทางแล้ว ก็ยังเป็นสถานที่อันมีประวัติศาสตร์ยาวนานอีกด้วย นับตั้งแต่รถไฟขบวนแรกได้ออกวิ่งจากกรุงเทพไปยังอยุธยาเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2439 มาวันนี้เรามีรถไฟหลายขบวนวิ่งตรงไปยังหลายจังหวัด นับรวมเป็นระยะทางกว่า 4,346 กิโลเมตร เลยทีเดียว
(ภายในชานชาลาสถานีรถไฟหัวลำโพง)เริ่มจากสถานีแรก "สถานีกรุงเทพ" หรือที่เรียกกันติดปากว่า "สถานีรถไฟหัวลำโพง" เป็นสถานีรถไฟหลักที่สำคัญที่สุดในประเทศ ตัวสถานีสร้างขึ้นในช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ 5 แต่สถานีกรุงเทพฯปัจจุบันที่เราเห็นและใช้งานอยู่ปัจจุบันนั้นเป็นสถานีที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 ให้บริการประชาชนในเส้นทางสายเหนือ สายอีสาน และสายใต้
หลังคารูปทรงโดมที่เราเห็นจนชินตานั้น เป็นการก่อสร้างในสไตล์อิตาเลียนผสมผสานกับศิลปะยุคเรอเนสซอง โดยมีลักษณะคล้ายกับสถานีรถไฟของเมืองแฟรงค์เฟิร์ต ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน และวัสดุในการก่อสร้างก็อิมพอร์ตมาจากเยอรมันนีด้วยเช่นกัน
(อนุสาวรีย์ด้านหน้าสถานีรถไฟหัวลำโพงสร้างถวายแด่ร.5)
บรรยากาศของสถานีกรุงเทพฯที่ฉันได้สัมผัสเมื่อไปเยือนก็เหมือนกันทุกครั้ง คือภาพของผู้คนที่ส่วนหนึ่งเดินกันขวักไขว่มีเป้สะพายหลัง และอีกส่วนหนึ่งบ้างนั่งหลับ บ้างนั่งจับกลุ่มพูดคุยกันปักหลักอยู่ตามเก้าอี้ หรือปูหนังสือพิมพ์นั่งบนพื้น รอรับเพื่อนฝูงญาติพี่น้อง หรือรอเวลาที่รถไฟจะมาถึงแค่ได้นั่งมองอากัปกิริยาของผู้คนในสถานีรถไฟก็เพลิดเพลินมากแล้ว แต่จะเพลินมากขึ้นไปอีกถ้ามองไปรอบๆเพื่อชมความงามภายในอาคารทรงโดมแห่งนี้ ตั้งแต่กระจกสีที่ช่องระบายอากาศทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ที่ช่วยเพิ่มความสว่างสดใสให้ตัวอาคารในเวลากลางวัน มองเห็นนาฬิกาบอกเวลาที่มีความเก่าแก่เท่ากับตัวอาคาร ในส่วนของที่ทำการกองโดยสารซึ่งอยู่ทางด้านขวามือของสถานีนั้น ก็มีลวดลายปูนปั้นที่งดงามอยู่ตามบันไดและเสาอาคาร
และหากเดินเข้าไปในชานชาลาก็จะเห็นเก้าอี้ไม้หน้าตาคลาสสิคที่พบเห็นได้เฉพาะที่สถานีรถไฟตั้งเรียงอยู่ เป็นที่นั่งรอของผู้โดยสาร ในชานชาลานี้เราสามารถเข้าไปยืนชมรถไฟขบวนต่างๆได้อย่างใกล้ชิด แต่หากมาในช่วงที่รถไฟเพิ่งเข้าสถานีก็จะต้องเดินฝ่าคลื่นฝูงชนกันไป ก็ต้องระมัดระวังทรัพย์สินของตัวเองให้ดีด้วย
(ผู้คนมากมายรออยู่ภายในสถานี)
ก่อนจะจากลาสถานีรถไฟหัวลำโพงไปก็อย่าลืมแวะมาที่ด้านหน้าสถานี เพราะบริเวณนี้มีอนุสาวรีย์ที่ชาวข้าราชการรถไฟได้รวบรวมทุนทรัพย์จัดสร้างขึ้นเพื่อน้อมเกล้าฯอุทิศส่วนกุศลถวายแด่พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง โดยเป็นอนุสาวรีย์รูปช้างสามเศียร และมีพระบรมฉายาลักษณ์ด้านข้างแบบลายนูนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวประดิษฐานอยู่ โดยบริเวณนั้นก็มีพวงมาลัยดอกไม้ที่ประชาชนมากราบไหว้พระองค์อยู่เสมอ(สถานีรถไฟนบุรีเก่า)
และในฝั่งธนบุรี ก็มีสถานีรถไฟเก่าแก่อีกแห่งหนึ่งคือ "สถานีรถไฟธนบุรี" หรือสถานีรถไฟบางกอกน้อย ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา และมีความสำคัญตรงที่เป็นสถานีต้นทางแห่งแรกของรถไฟสายใต้ ที่จะเดินทางไปจังหวัดทางภาคตะวันตกและภาคใต้ เช่น จังหวัดสมุทรสาคร นครปฐม หัวหิน กาญจนบุรี ก่อนที่ต่อมาจะมีการสร้างสะพานพระราม 6 ซึ่งเป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งแรกในกรุงเทพฯ ทำให้เป็นการเชื่อมทางรถไฟสายเหนือและสายใต้เข้าด้วยกัน รถไฟสายใต้จึงได้มีการเปลี่ยนต้นทาง-ปลายทางไปยังสถานีกรุงเทพบ้าง
(สถานีธนบุรี)
สถานีรถไฟธนบุรีสร้างขึ้นตามพระราชดำริของรัชกาลที่ 5 ที่ทรงเห็นว่าการเดินทางมาจากฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ง่ายต่อการเดินทางไปสู่ภาคใต้และภาคตะวันตก อีกทั้งแถบนี้ยังเป็นชุมชนที่หนาแน่น โดยพระองค์ได้เสด็จมาเปิดสถานีเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2446หลายคนคงรู้จักสถานีรถไฟบางกอกน้อยจากเรื่อง "คู่กรรม" ที่โกโบริและอังศุมาลินมาพบรักกันแถวๆนี้ แต่เรื่องมันเศร้าเมื่อโกโบริต้องจบชีวิตลงจากพิษลูกระเบิดในสงครามโลกครั้งที่สอง เช่นเดียวกับสถานีรถไฟบางกอกน้อยก็ได้ถูกทำลายไปด้วยลูกระเบิดในครั้งนั้นด้วยเช่นกัน แต่ต่อมาก็ได้มีการสร้างอาคารสถานีรถไฟขึ้นใหม่ในบริเวณพื้นที่เดิม เป็นอาคารรูปทรงกะทัดรัด โดดเด่นด้วยหอนาฬิกาทรงสี่เหลี่ยมสีส้มอิฐ
แต่ในปัจจุบันอาคารหลังนี้ก็ไม่ได้ใช้เป็นสถานีรถไฟอีกต่อไป เมื่อการรถไฟฯได้มอบที่ดินบริเวณนี้ให้โรงพยาบาลศิริราชเมื่อปี พ.ศ. 2546 เพื่อจัดสร้างเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ในระดับนานาชาติ ที่จะมีทั้งศูนย์การให้บริการทางการแพทย์ ศูนย์พิพิธภัณฑ์การแพทย์ ศูนย์เทคโนโลยีต่างๆ ดังนั้นจึงไม่มีการเดินรถไฟสายใต้จากสถานีธนบุรีแห่งนี้อีก แต่ก็มีสถานีธนบุรีแห่งใหม่ที่อยู่ถัดจากสถานีเดิมออกไปเกือบๆหนึ่งกิโลเมตร ส่วนสถานีเก่านั้นทางโรงพยาบาลก็ไม่ได้ทุบทำลายแต่อย่างใด แต่ยังเก็บรักษาตัวอาคารเอาไว้
(โรงรถจักรธนบุรี)
ในบริเวณสถานีรถไฟธนบุรีนี้ยังมีสิ่งที่น่าสนใจที่คนรักรถไฟไม่ควรพลาด นั่นก็คือ "โรงรถจักรธนบุรี" ซึ่งเป็นสถานที่จัดเก็บและบำรุงรักษารถจักรไอน้ำเพื่อใช้ลากจูงขบวนรถในวันสำคัญต่างๆ จำนวน 5 คันด้วยกันคือรถจักรไอน้ำ ยี่ห้อ ซี 56 สร้างในประเทศญี่ปุ่นจำนวน 2 คัน รถจักรไอน้ำแปซิฟิค สร้างในประเทศญี่ปุ่นจำนวน 2 คัน และรถจักรไอน้ำมิกาโด สร้างจากประเทศญี่ปุ่น จำนวน 1 คัน โดยรถจักรไอน้ำทั้ง 5 คันนี้จะถูกนำออกมาใช้ในงานเทศกาลต่างๆ เช่น งานสัปดาห์สะพานข้ามแม่น้ำแคว งานวันสถาปนากิจการการรถไฟแห่งประเทศไทย งานวันปิยมหาราช และวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม เป็นต้น
(รถจักรไอน้ำในโรงรถจักรธนบุรี)
สถานีรถไฟทั้งสองสถานีนี้ต่างก็มีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานพอๆกัน และยังคงความเป็นศูนย์กลางในการเดินทางสัญจรไปมาของผู้คนจากทั่วทุกสารทิศ ที่ยังชื่นชอบเสน่ห์ของรถไฟ พาหนะที่ยังคงความคลาสสิกในดวงใจของหลาย ๆ คน
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพจากผู้จัดการออนไลน์
Qatar Labour Law 2021
ReplyDeletesaudi arabia laws
English to Croatian Translation