คมชัดลึก : กีฬา

Saturday, May 3, 2008

มือใหม่หัดขี่พึงละเว้น

การที่ได้มีจักรยานเสือภูเขาเป็นของตนเองสักคันย่อมสร้างความภาคภูมิใจไม่น้อย และจะภาคภูมิใจมากยิ่งขึ้นหากได้ลงไปล่าถ้วยรางวัลในสนามแข่งแล้วประสบความสำเร็จได้ดังตั้งใจ แต่ก่อนที่ทุกคนจะเดินทางมาถึงจุด ๆ นั้นย่อมต้องใช้เวลาในการเรียนรู้มากพอสมควร เวลาและประสบการณ์เท่านั้นที่จะเป็นครูที่ดีที่สุด สำหรับเสือมือใหม่ ๆ ทั้งหลายก็คงไม่ต่างกันกับผู้เขียนที่เริ่มขี่เสือใหม่ ๆ เช่นกัน ฉะนั้นข้อผิดพลาดทั้งหลายที่ได้ประสบมาจึงนำมาประมวลไว้เพื่อเป็นข้อเตือนใจสำหรับมือใหม่ ๆ กว่าจะข้ามไปเป็นนักขี่ระดับแนวหน้าในอนาคตต่อไป


1. การปรับอานต่ำเกินไป นักปั่นเสือภูเขาทั้งหลายที่มีพื้นฐานมาจาก BMX ซึ่งอาจติดสไตล์การขี่แบบตั้งอานต่ำเกินไป สำหรับเสือภูเขาแล้วไม่เหมาะสมครับ เพราะตัวเราจะเป็นทั้งผู้ขับขี่และเครื่องจักร การตั้งอานต่ำเช่นนั้นจะทำให้พลังขาในการปั่นหมดหายไปมากกว่าครึ้งหนึ่ง และยากต่อการควบคุมการขี่ให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด ที่ถูกต้อง ปรับอานให้อยู่ในระดับที่ขาเหยียดงอได้เล็กน้อยขณะที่เหยียบลูกบันไดได้ในจังหวะต่ำสุด

2. มือจับเบรค การจับเบรคนั้นจับเพียงแค่ 2 นิ้วก็พอ ไม่ใช่กำทั้งมือ บางคนตกใจเมื่อพบกับอุปสรรคกลัวจะหยุดรถไม่ทัน ก็เลยบีบก้านเบรคเต็ม ๆ ด้วยนิ้วทั้งสี่ นอกจากล้อจะหยุดอย่างกระทันหันแล้วยังทำให้รถเสียการควบคุมอีกด้วย เพราะนิ้วทั้งสี่ไปอยู่กับก้านเบรคเหลือนิ้งโป้งเกาะแฮนด์ไว้เพียงนิ้วเดียวที่ถูกต้องจับก้านเบรคไว้ด้วยนิ้วชี้นิ้วกลางก็พอ นิ้วที่เหลือก็กุมแฮนด์ไว้

3. ยุทธวิธีการลื่นไถล หากคิดว่าการใช้เบรคหน้านั้นไม่ปลอดภัย จงอย่าไปปักใจเชื่อทันที เพราะการใช้เบรคนั้นต้องใช้ทั้งเบรคหน้าและหลังพร้อม ๆ กัน การใช้เบรคหลังอย่างเดียวเพื่อลดความเร็วนั้น รังแต่จะก่อให้เกิดอาการลื่นไถลซึ่งทำให้รถเสียการทรงตัวได้ บนถนนดินลูกรังต้องพึงเบรคหน้าด้วยครับ เพราะขณะที่เบรคโดยเฉพาะตอนลงเนินน้ำหนักรถทั้งหมดจะถ่ายลงมาที่ล้อหน้า ถ้าเราเบรคด้วยล้อหน้าตอนนั้นล้อหน้าจะเกาะพื้นและหยุดรถได้ดีกว่าที่ถูกต้องควรใช้เบรคทั้งคู่ไปพร้อม ๆ กันก่อน ที่สำคัญอย่าตกใจและเบรคอย่างรุนแรงจนล้อล๊อคตาย เวลาเบรคคอยฟังเสียงล้อด้วยว่ายังหมุนอยู่อีกหรือเปล่า ถ้าเริ่มมีอาการลื่นไถลก็ให้คลายเบรคตราบใดที่ล้อยังหมุนเรายังควบคุมรถได้ ถ้าลื่นไถลเมื่อไหร่ก็ไร้ทิศทางเมื่อนั้น


4. หัดจูงรถบ้างก็ดีเหมือนกัน การไปถึงเป้าหมายโดยสวัสดิภาพคือจุดประสงค์ของเราทุกคน การลงเดินจูงรถในบางครั้งก็ไม่ถือเป็นเรื่องน่าอับอาย และไม่เสียหายอะไร บางเส้นทาง บางตอนเราพบว่ามันเกินกว่าที่เราจะขี่ผ่านไปได้ ตรงกันข้ามการฝ่าฝืนและไม่ประเมินตนอาจจะก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ตลอดเวลาข้อควรปฏิบัติ ถ้าไม่แน่ใจในอุปสรรคข้างหน้า ให้ตัดสินใจลงเดินจูงเสียเลย จนกระทั่งเมื่อได้สั่งสมประสบการณ์มากขึ้น คุณก็จะได้ขี่ไกลขึ้น เร็วขึ้น และลงเดินน้อยลง

5. ลงเขาแล้วตีลังกา หัวทิ่มการลงเขาโดยไม่ประเมินตัวเอง คิดว่าเป็นเรื่องหมู ๆ นั้น เราจะพบข้อผิดพลาดบ่อย ๆ เราจะหกคะเมนตีลังการก็ตอนลงเนินบ่อยที่สุด เพราะตัดสินใจผิด สาเหตุก็คือการถ่ายน้ำหนักตัวผิด ถ้าเคลื่อนตัวไปข้างหน้าในลักษณะยืนคร่อมบนท่อบน สองขายันพื้นมือบีบเบรคแน่นในขณะที่รถลื่นไถลลง ขาเราก็จะกระแทกกับแฮนด์ ท่อบนของตัวถังก็กระแทกกับบั้นท้ายเรา จนถึงจังหวะที่ควบคุมสถานการณ์ไว้ไม่ได้ แรงเหวี่ยงก็จะโยนเราไปนอนคลุกฝุ่น สวัสดีเสือภูเขาข้า ฯ ขอลาก่อน การลงเขาที่ถูกต้อง ขณะที่รถพุ่งลงเนินมาอย่างรวดเร็ว เมื่อรู้สึกว่าจะเอารถไว้ไม่อยู่ ไม่สามารถควบคุมรถได้ ให้สะบัดเท้าข้างหนึ่งข้างใดออกจากการล๊อคติดกับลูกบันไดได้ทันที แล้วถอยตัวมาด้านท้ายของอาน ถ้าสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้นค่อยสะบัดเท้าอีกข้างออกพร้อม ๆ กับดีดตัวออกจากรถได้อย่างปลอดภัย อย่าให้เท้าทั้งสองหลุดออกจากลูกบันไดทั้งสองข้างพร้อม ๆ กัน เพราะเราจะบังคับรถด้วยมืออย่างเดียวไม่ได้เลย

6. การแต่งตัวเวอร์ไป ถ้าใครคิดว่าการแต่งตัวด้วยกางเกงขายาว เสื้อวอร์มปั่นจักรยานออกจากบ้านแล้วเท่ ก็คงจะได้รับการต้อนรับจากความอึดอัดและความร้อนเป็นอย่างดีเลิศ เพราะพอปั่นไปสักพักเมื่อเครื่องร้อนเหงื่อก็จะออกชุ่มตัว เสื้อผ้าหนา ๆ รุ่มร่ามก็จะเป็นอุปสรรคในการขี่และระบายความร้อนอย่างยิ่งควรจะแต่งตัวให้พอดีแต่งตัวให้รัดกุม รัดรูป เพื่อลดการต้านลมให้มากที่สุด เสื้อผ้าก็ควรทำจากวัสดุที่ระบายความร้อนและเหงื่อได้ดี ถ้าเป็นการแข่งขันหรือขี่ทางไกลควรสวมใส่กางเกงจักรยานโดยเฉพาะที่มีหนังชามัวร์หรือวัสดุสังเคราะห์นิ่ม ๆ บุอยู่บริเวณก้นทำให้ลดการเสียดสี และเพิ่มความสบายในการปั่นอย่างมาก

7. อย่าอดทนเหมือนอูฐ นักกีฬาที่เตรียมตัวมาอย่างดีอาจสามารถปั่นได้เป็นชั่วโมง โดยไม่ดื่มน้ำเลย ก่อนที่จะเจอกับอาการเดี้ยงเพราะขาดน้ำ ส่วนนักปั่นมือใหม่มักไม่ค่อยคุ้นกับการดื่มน้ำบ่อย ๆ ถึงแม้จะพกน้ำไปด้วยก็ตามเพราะมัวแต่เอาใจจดจ่อกับการปั่นจนลืมดื่มน้ำควรปฏิบัติให้ถูกต้องเราควรดื่มน้ำทุก ๆ 15 นาที ไม่ว่าอากาศจะร้อนหรือเย็นก็ตาม และควรทานอาหารเสริมเช่น กล้วย องุ่น หรือคุกกี้ ทุก ๆ ครึ่งชัวโมง ถึงแม้ว่าจะยังไม่เกิดอาการหิวก็ตาม เพราะเราต้องการเสริมพลังงานที่สูญเสียไปแต่เนิ่น ๆ ซึ่งจะช่วยลดอาการปวดเมื่อยของกล้ามเนื้อที่จะเกิดขึ้นภายหลังได้ ไม่ควรแสดงความอดทนให้เพื่อนเห็นด้วยการไม่ดื่มน้ำนาน ๆ เพราะมันจะฆ่าเราทางอ้อม

8. ท่าทางการขี่แข็งทื่อเกินไป ท่าทางการปั่นและการถ่ายน้ำหนักตัวที่ถูกต้องทำให้รถเคลื่อนที่ไปอย่างรวดเร็วและราบรื่น หลายคนมักจะเอนตัวไปข้างหน้ามากเกินไปเวลาขึ้นเนินสูงโดยเฉพาะตอนเกือบถึงยอดเขา จะทำให้ล้อหลังสัมผัสพื้นน้อย จะเกิดอาการตะกุย ดินน้อย หรือล้อฟรี ทำให้การขึ้นเขาสะดุดได้ควรใช้วิธีที่ถูกต้อง ต้องถ่ายน้ำหนักตัวมาข้างหลังเล็กน้อยพอที่จะให้ล้อตะกุยดินได้มากขึ้น และรักษาตำแหน่งนั้นไว้อย่าให้ล้อหมุนฟรี ขณะเดียวกันก็ก้มตัวลงเป็นการถ่ายน้ำหนักตัวไปที่ล้อหน้าด้วย เพื่อควบคุมไม่ให้ล้อหน้าลื่นไถล หรือยกล้อ สำหรับเนินเขาสูงมาก ๆ อาจต้องลุกขึ้นปั่นเพื่อรักษาการทรงตัวเอาไว้ให้ตลอด


9. ไม่แน่จริงอย่าซ่าส์ เสือภูเขามือเก๋าถึงแม้ไม่ค่อยฟิตก็จะขี่ด้วยความเร็วสูงจนเป็นนิสัย สำหรับมือใหม่ก็ควรทราบไว้ด้วยว่าร่างกายเรานั้นมีอ๊อกซิเจนประมาณ 10 นาที และคาร์โบไฮเดรตประมาณ 45 นาที ที่เก็บสะสมไว้ในเลือดและอวัยวะที่สำคัญที่จะเรียกมาใช้ได้อย่างรวดเร็ว หลังจากนั้นร่างกายต้องทำงานหนักมากขึ้นเพื่อที่จะสร้างพลังงานมาใช้ต่อไป ถ้าเราใช้หมดไปอย่างรวดเร็วตั้งแต่แรกระยะทางที่เหลือก็จะเป็นงานทรมาณบันเทิงตลอดทางที่ถูกต้อง เริ่มปั่นอย่างช้า ๆ ก่อนจนรู้สึกว่าร่างกายปรับตัวและวอร์มได้ที่แล้วค่อยเพิ่มความเร็ว อย่าไปเอาอย่างมือเก๋าที่มีหัวใจแข็งแรงกว่าเรา

10. กลัวล้มก็จะล้ม โดยธรรมชาติถ้าเราเห็นอย่างไรก็จะคิดอย่างนั้น สำหรับมือใหม่อาจจะมีข้อเสียตรงที่การติดกับภาพที่เห็น เช่นถ้าเห็นร่องน้ำใหญ่ หรือก้อนหินก้อนโตขวางหน้า เขาก็มักจะถูกตรึงให้ติดกับอุปสรรคเหล่านั้น ทำให้ไม่สามารถแก้ไขสถานการณ์ได้ สาเหตุก็เพราะภาพที่เห็นทางตาถูกส่งไปยังสมอง ซึ่งจะส่งต่อไปยังร่างกายให้ปฏิบัติตามโดยไม่รู้สึกตัวควรคิดให้ถูกต้องต้องบังคับสายตาตัวเองให้หลุดพ้นจากอุปสรรคเหล่านั้น โดยมองหาเส้นทางเลือกอย่างอื่นที่ปลอดภัยกว่า หลีกเลี่ยงด้านที่เป็นทางลาดชัน อาจจะต้องใช้ทางอ้อมถ้าจำเป็น หมือมองหาช่องว่างระหว่างหินใหญ่นั้นเป็นทางเลือก เมื่อได้ทางเลือกที่ดีกว่าก็ตัดสินใจไปตามนั้นก็จะหลุดพ้นไปได้ตามปรารถนา

บัญญัติ 10 ประการสำหรับนักจักรยานมือใหม่ที่ไม่ควรมองข้าม และขอให้หมั่นฝึกตนเองให้ผ่านอุปสรรคทั้ง 10 ประการนี้ แล้วท่านจะเป็นนักขี่เสือที่เต็มเปี่ยมด้วยประสิทธิภาพ



บทเรียน และความรู้จาก ป๋ายรรยง เจริญพงค์

No comments:

Post a Comment