เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เกี่ยวกับจักรยานที่มีนักจักรยานทั้งมือเก๋าและมืออ่อนมองข้าม และคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดา ไม่มีความสำคัญมากมายนัก จึงไม่ค่อยให้ความสนใจต่อปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ ซึ่งปัญหาต่าง ๆ ที่มักจะเกิดขึ้นนั้นบางครั้งครั้งมันก็ค่อย ๆ เกิดจากความเสียหายเล็ก ๆ น้อย ๆ จนในที่สุดก็นำไปสู่ปัญหาใหญ่ ซึ่งเราอาจจะไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตัวเอง ทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมมากขึ้น และเสียเวลาในการซ้อมอีกด้วย ดังปัญหาที่จะบอกเล่าต่อไปนี้เป็นต้น
ประการแรก เมื่อเราจับจักรยานจะออกไปปั่นหลายคนไม่ได้ตรวจสอบจักรยานของเราหลังจากกลับจากการขี่ หรือซ้อมเมื่อวานมาอย่างหนักว่ามีอะไรชำรุดหรือไม่ ?
ที่ถูกต้อง ทุกครั้งเมื่อขี่เสร็จแล้ว หรือซ้อมเสร็จแล้วระหว่างทางที่กำลังขี่กลับเข้าบ้าน ควรจะทดลองระบบกลไกของจักรยานบ้าง เช่น ลองเล่นเกียร์ทั้งหมด ทั้งจานหน้าและหลัง ทดสอบดูซิว่าเป็นไงบ้าง ความแม่นยำในการเปลี่ยนเกียร์ใช้ได้หรือไม่ ? การทำงานของจุดหมุนต่าง ๆ ของกลไกมีเสียงอะไรบ้างที่ไม่พึงประสงค์ดังออกมาให้ได้ยินบ้างหรือไม่ ?? ระบบเบรคยังสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพเหมือนเดิมหรือไม่ ? ใช้สายตาจับจุดเซ็นเตอร์ตรงกลางของยางเส้นหน้า สังเกตุดูว่าการหมุนของวงล้อมีการบิดเบี้ยว หรือเกว่งหรือไม ?่ เมื่อตรวจสอบล้อหน้าแล้วต้องตรวจล้อหลังบ้างโดยก้มมองที่ช่องว่างระหว่างตะเกียบหากผิดปกติก็จะมองเห็นว่าล้อหลังหมุนไม่เป็นระเบียบ ตรวจสอบการทำงานของโช้คหน้า ถ้าเป็นฟูลซับ ก็ตรวจสอบโช้คหลังด้วยมีสิ่งใดผิดปกติบ้างหรือไม่ ? โดยใช้เวลาระหว่างเดินทางกลับบ้านให้เป็นประโยชน์ในการตรวจสภาพรถจักรยานของเราได้ครับ
เมื่อกลับถึงบ้าน หรือจุดพักก่อนแยกย้ายกันกลับ ควรใช้สายตาตรวจสอบอุปกรณ์ที่พอสามารถมองด้วยตาเปล่าได้ ว่ามีอุปกรณ์ตัวใดบ้างที่ชำรุดแต่ยังไม่แสดงอาการออกมา ตรวจดูซี่ลวดทั้งหน้าและหลังว่ายังอยู่ในสภาพปกติหรือไม่ หรือมีเส้นใดเส้นหนึ่งหย่อน หรือหักเพราะผ่านการขี่ในที่ทุรกันดาลมา หรือโดนกิ่งไม้ขัดขวางระหว่างฝึกซ้อมในทางซิงเกิ้ลแทรก ตรวจดูความเรียบร้อยของยางทั้งหน้าและหลัง ว่ามีสิ่งแปลกปลอมใดบ้างที่ไม่พึงประสงค์มาขออาศัยอยู่บ้าง เช่น เศษแก้ว เข็มหมุด ตะปูเล็ก ๆ เป็นต้น
เมื่อกลับมาถึงบ้านแล้ว ประการแรกตรวจสอบโซ่ที่ผ่านการใช้งานสำหรับวันนี้ว่าเป็นไงบ้าง โดยนำแปรงสีฟันที่เลิกใช้มาแล้ว มาเช็ดให้ครบรอบ ทั้งส่วนด้านบนและด้านล่างของโซ่ เพื่อทำความสะอาดจากเศษดินหรือฝุ่นที่เกาะอยู่ที่โซ่ หลังจากใช้แปรงสีฟันปัดเศษดินหรือฝุ่นออกจนหมดแล้ว ก็ให้ใช้ผ้าแห้งที่สะอาดเช็ดโซ่อีกครั้ง ด้วยการใช้ผ้าจับที่โซ่แล้วหมุนให้ครบรอบสักสองรอบก็เพียงพอ หลังจากนั้นก็เอาน้ำมันหยอดโซ่ที่ใช้เป็นประจำ หยอดลงไปแล้วใช้ผ้าเช็ดอีกครั้งเพื่อเป็นการชะโลมให้ทั่ว เป็นอันว่าวันนี้เสร็จสิ้นภาระกิจเกี่ยวกับจักรยาน
ประการที่สอง ก่อนถึงเวลานัดหมายที่จะออกไปซ้อม อย่างน้อย 1 ชั่วโมง เราควรตรวจสอบจักรยานคู่ชีพของเราอีกครั้ง หลังจากเมื่อวานได้ตรวจสอบความเรียบร้อยมาแล้ว การตรวจสอบในครั้งนี้จะเน้นที่สภาพลมยาง เพราะเมื่อวานก่อนที่เราจะเก็บสภาพแรงดันลมยางยังเป็นปกติ แต่นั้นไม่ใช่สิ่งที่จะยืนยันได้ว่ารถจักรยานของเราจะไม่มีสิ่งใดเสียหายแล้ว เพราะยางจักรยานที่ผ่านการใช้งานมาเมื่อวานนี้จะมีสิ่งใดเกิดขึ้นหลังจากที่เราเก็บมาแล้ว เช่นเกิดรูรั่วเล็ก ๆ ทำให้ลมยางซึมออกมาช้า ๆ กว่าจะบอกอาการได้ว่ายางในที่ใช้อยู่นั้นโดนข้าศึกรุกรานเสียแล้ว หากตรวจพบอาการดังกล่าว เรายังมีเวลาเพียงพอที่จะแก้ไขก่อนออกซ้อมตามเวลาปกติ
นักกีฬาที่ดี ต้องหมั่นตรวจอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ในการฝึกซ้อมหรือแข่งขันให้อยู่ในสภาพพร้อมที่จะใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพเมื่อถึงเวลากำหนดก็จะได้ไม่มีปัญหา และสามารถใช้อุปกรณ์เหล่านั้นได้ทันท่วงที
ประการที่สาม ควรตรวจสอบระบบสายเบรค และสายเกียร์ ทุก ๆ อาทิตย์เป็นอย่างต่ำ หรือเมื่อรู้สึกว่ามีอาการฝืด เพราะสิ่งเหล่านี้จะบันทอนสมรรถนะของระบบกลไกต่าง ๆ ให้ทำงานผิดพลาด หรือบางครั้งอาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุกับผู้ขับขี่ได้เช่นกัน เช่นสายเบรคชำรุด หรือหลุดจากจุดยึด ทำให้เราไม่สามารถควบคุมรถได้เป็นต้น ควรจะถอดออกมาแล้วใช้น้ำมันที่ใช้ทำความสะอาดฉีดเข้าไปในปลอกสายไล่ความสกปรกออกไปบ้าง
ประการที่สี่ หากรถจักรยานที่ท่านใช้ตัวเฟรมผลิตจากวัสดุประเภทอลูมิเนียม หรือโครโมลี่ ทุกครั้งเมื่อกลับจากการขี่ประจำวัน ควรจะใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำแล้วเช็ดทำความสะอาดตัวถังรถทุก ๆ เพราะความเค็มของเหงื่อที่หยดลงมาถูกเฟรมจักรยานจะทำให้รถจักรยานของท่านเสียหายได้ในเวลาต่อมา
ประการที่ห้า ทุกครั้งเมื่อออกขี่จักรยานท่านควรจะเตรียมยางอะไหล่ติดตัวไปด้วย พร้อมกับสูบ เพื่อจะได้แก้ไขหากรถท่านยางแบนในระหว่างขี่ หรือฝึกซ้อม โดยเฉพาะเมื่อออกไปขี่ระยะทางไกล ๆ จากบ้าน เพราะเหตุการณ์ต่าง ๆ ย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ ๆ และทุกครั้งเมื่อออกขี่จักรยานไม่ควรมองข้ามความปลอดภัย โดยให้สวมหมวกกันน๊อค ถุงมือ ควรสวมรองเท้าหุ้มส้น ไม่ควรสวมรองเท้าประเภทสาน เพราะหากเกิดอุบัติเหตุในระหว่างขี่จักรยานรองเท้าประเภทสานไม่สามารถป้องกันเท้าของเราได้
ขอขอบคุณ ลุงแมโดดคร่อม
No comments:
Post a Comment