คมชัดลึก : กีฬา

Tuesday, October 16, 2007

น้องผมหาย !!!

“น้อง” ผมอยู่ไหน? เป็นเรื่องยอดฮิตของชาวเสือเพศชายจำนวนไม่น้อยทีเดียว

น้องชายตัวดี นามว่านาย “จู๋” ได้หายไปจากที่พักเป็นการชั่วคราว ในแทบจะทุกครั้งที่พี่ชายตัวดีออกไปปั่นจักรยาน “น้อง” หาย หรือจู๋ชานั้น เป็นอาการที่ชาวเสือเพศชาย น่าจะได้มีประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้กันแทบทุกคน อาการนี้มักจะเริ่มมาเยือนเมื่อนั่งปั่นติดต่อกันนาน ๆ หรือต้องก้มหมอบมาก ๆ เช่น หมอบบน Aerobar อาการชาอาจจะเป็นเฉพาะที่ตัว “จู๋” หรือบางรายอาจจะมีอาการชาร่วมที่อัณฑะ

อาการชาเกิดจากอะไร?

เมื่อนั่งอยู่บนอานจักรยาน ส่วนโคนของ “จู๋” และองคาพยบทั้งปวงจะเสมือนกับเป็นไส้แซนด์วิชที่ถูกประกบด้วยอานจักรยาน (จากด้านล่าง) และ กระดูกเนินหัวเหน่า (จากด้านบน) ส่วนของไส้แซนด์วิชนี้จะมีเส้นประสาท และหลอดเลือดดำต่าง ๆ ที่มาเลี้ยงส่วนของจู๋และผิวหนังในบริเวณใกล้เคียง ดังนั้นการนั่งบนอานจักรยานอาจจะทำให้เกิดการกดทับหรือบีบประกบไส้แซนด์วิชไม่มากก็น้อย (หรือบางทีก็อาจจะไม่มีการบีบประกบหรือกดทับเลยก็ได้) ขึ้นอยู่กับลักษณะของการนั่ง ลักษณะของเบาะ รวมไปถึงปัจจัยที่เกี่ยงข้องอื่น ๆ อีก


อาการชาที่เกิดขึ้นนี้อาจจะเกิดจากการกดทับโดยตรงที่เส้นประสาทในบริเวณดังกล่าวหรือ อาจจะกดทับหลอดเลือดฝอยที่เลี้ยงเส้นประสาทเหล่านี้ ส่งผลให้เลือดไปเลี้ยงเส้นประสาทลดลงจนส่งผลต่อการทำงานของเส้นประสาท


การป้องกันเป็นหนทางที่ดีที่สุด

ท่านั่งที่เหมาะสม

เริ่มต้นด้วยท่าทางในการนั่ง ท่านั่งที่เหมาะสมคือท่านั่งในลักษณะปล่อยให้น้ำหนักตัวตกลงไปที่ก้นด้านหลัง โดนั่งที่บริเวณส่วนท้ายสุดของเบาะ (ซึ่งส่วนใหญ่จะทำมาเป็นเนินนูนขึ้นมารับกับปุ่มกระดูกใต้เชิงกราน (ischeal tuberosity) จากนั้นให้งอหลังก้มตัวเอามือไปจับแฮนด์ ร่วมกับการงอศอกเล็กน้อยเพื่อช่วยชะลอน้ำหนักในด้านหน้า ซึ่งจะช่วยทำให้ลดแรงกดทับต่อจู๋จากทางด้านหน้าของเบาะลงได้ และที่สำคัญควรหลีกเลี่ยงการนั่งปั่นในลักณณะหลังแข็งเหยียดตรง ทิ้งน้ำหนักตัวไปด้านหน้าแล้วปล่อยให้แขนรับเอาไว้ทั้งหมด เพราะท่านั่งในลักษณะนี้จะทำให้เพิ่มแรงกดทับต่อจู๋จากทางด้านหน้าของเบาะ ทำให้เกิดการบีบประกบไส้แซนด์วิชมากขึ้น และส่งผลใก้เกิดอาการชาได้โดยง่าย


การยกกันหรือขยับก้นขึ้นจากอานทุก ๆ 5 นาที จะช่วยลดการกดทับได้เป็นอย่างดี


การปรับและเลือกเบาะที่เหมาะสม

หากพบว่ามีการชาร่วมด้วยบ่อย ๆ แนะนำให้ลองปรับมุมเบาะ โดยลดจมูกอานลงเล็กน้อย และสำหรับนักปั่นที่ใช้บันได Clipless จะพบว่า บางครั้งการลดความสูงของอานลงอีกเล็กน้อยก็สามารถลดปัญหาเรื่องอาการชาลงได้มากทีเดียว


เลือกเบาะใหม่ เบาะบางแบบอาจจะนุ่มเกินไป เมื่อนั่งลงไปแล้วจะทำให้ก้นจมลงไป และส่วนโคนด้านล่างของจู๋จะถูกกดทับโดยไม่รู้ตัว นอกจากนี้เบาะบางแบบอาจจะมีรูปทรงที่ไม่ลงตัวและแข็งเกินไป เมื่อร่วมกับการปรับตำแหน่งเบาะที่ไม่เหมาะสม ก็จะทำให้เกิดการกดทับได้เช่นกัน


เบาะในปัจจุบันหลายยี่ห้อนั้น ได้ถูกออกแบบมาสำหรับแก้ปัญหานี้ เช่น เบาะที่เพิ่มเนินนูนขึ้นมาที่บริเวณมุม 2 ข้างท้ายเบาะ หรือ ทำเป็นร่องบริเวณกลางเบาะ เป็นต้น ซึ่งเบาะเหล่านี้ หากนำมาใช้พร้อมทั้งปรับตำแหน่งมุมเบาะที่เหมาะสมแล้ว ก็สามารถช่วยบรรเทาปัญหาเรื่องชาลงไปได้มากทีเดียว


เบาะใดก็ตามที่นั่งแล้วสบาย ไม่มีปัญหาเรื่องน้องชายหายตัวไปล่ะก้อ เบาะนั้นถือว่าดีที่สุดแล้วครับ ส่วนจะฟันธงลงไปว่าเบาะยี่ห้อไหน รุ่นใดดีที่สุดนั้น คงจะต้องเก็บธงไว้ก่อน เพราะเบาะแต่ละใบนั้นจะลงตัวและพอดีกับกันแบบใดแบบหนึ่งเท่านั้น ประมาณว่า เบาะใคร เบาะมัน และก้นใคร ก้นมันนะครับ


สวมกางเกงสำหรับปั่นจักรยานที่มีคุณภาพและถูกวิธี

การสวมกางเกงสำหรับขี่จักรยานที่มีวัสดุรองเป้าคุณภาพดี ร่วมกันกับการจัดท่าของน้องชายตัวดีให้อยู่แนบขึ้นมาทางด้านหน้าของกระดูกหัวเหน่า ก้สามารถช่วยลดปัญหานี้ลงได้เช่นกัน


ผลเสียหรือข้อแทรกซ้อน

ส่วนใหญ่แล้วเมื่อหมดการกดทับอาการดังกล่าวจะหายกลับมาเป็นปกติได้เอง (Reversible) ซึ่งนับว่าเป็นโชคดีอย่างมหาศาลสำหรับชาวเสือทั้งหลาย แต่อย่างไรก้ตามก็มิควรประมาท เพราหากปล่อยไว้ให้อาการชาดำเนินไปอย่างเนิ่นนาน โดยไม่ยอมแก้ที่สาเหตุ หรือยังคงทนนั่งปั่นทิ้งน้ำหนักตัวไปด้านหน้า หรือหมอบ Aerobar อย่างเมามันโดยไม่ฟังคำอุทธรณ์ของจู๋ ก็อาจจะส่งผลเสียระยะยาว โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับหลอดเลือด เช่น ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน


อย่างไรก็ตามก็มักจะมีคำถามเสมอ ๆ ถึงเรื่องการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ โดยเฉพาะน้องชายไม่ยอมตื่นนอนว่าเกี่ยวกับการปั่นจักรยาน หรือการกดทับในลักษณะข้างต้นนี้หรือไม่ ก็ขอตอบให้สบายใจนะครับว่า เส้นประสาทที่มีหน้าที่ในการปลุกให้น้องชายตัวดีลุกขึ้นมาจากที่นอนนั้น มันซ่อนตัวอยู่ลึกมาก การกดทับในลักษณะดังกล่าวแทบจะไม่มีผลต่อมันเลย สบายใจไปได้เปลาะหนึ่งนะครับ



Source : BLR

No comments:

Post a Comment